Grab เตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่สุดนับพันคน ยอมเจ็บแต่จบปัญหา

Grab เตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่สุดนับพันคน ยอมเจ็บแต่จบปัญหา

แกร็บ โฮลดิ้งส์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านบริการเรียกรถและส่งสินค้า-อาหารจากสิงคโปร์ ภายใต้แบรนด์ Grab (แกร็บ) เตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่สุด 1,000 คนหลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงใน เมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) ระบุว่า แกร็บ โฮลดิงส์ (Grab Holdings) บริษัทยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ กำลังเตรียมจะ ปลดพนักงาน ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด หลังจากที่บริษัทต้องเผชิญกับ การแข่งขันที่รุนแรง ในอุตสาหกรรมบริการเรียกรถและจัดส่งอาหารทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานข่าว ระบุว่า แกร็บเตรียมประกาศปลดพนักงานอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้ และมีแนวโน้มที่จะเป็นการปลดครั้งใหญ่กว่าเมื่อปีค.ศ. 2020  (พ.ศ.2563) ซึ่งครั้งนั้น แกร็บเลิกจ้างพนักงานราว 360 คน หรือ 5% ของพนักงานทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19

นายแอนโทนี ตัน ซีอีโอของบริษัท ยืนยันเมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) ว่าแผนการปลดพนักงานครั้งนี้ กระทบราว 1,000 ตำแหน่งหรือ 11% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด บริษัทอ้างถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการต้นทุนและเป็นการรับประกันว่าบริษัทจะมีบริการที่เหมาะสมกว่าในระยะยาว

ยอมเจ็บครั้งนี้ เพื่อจบปัญหาในระยะยาว

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ในจดหมายที่ส่งถึงพนักงาน นายตัน ซีอีโอของแกร็บ กล่าวว่า การปรับลดพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนี้ ไม่ใช่ “ทางลัด” สู่การทำกำไร แต่เป็นการ “ปรับโครงสร้างเชิงกลยุทธ์” เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

“การเปลี่ยนแปลงไม่เคยเร็วขนาดนี้มาก่อน เทคโนโลยี อย่างเช่น Generative AI (ปัญญาประดิษฐ์) กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวการแข่งขัน” ตัน ยังกล่าวด้วยว่า

ในฐานะองค์กรธุรกิจ แกร็บต้องผนวกขนาดขององค์กร เข้ากับการดำเนินการที่ฉับไว และความเป็นผู้นำด้านต้นทุน เพื่อให้บริษัทสามารถนำเสนอบริการที่ราคาย่อมเยามากขึ้นได้อย่างยั่งยืน และทำให้บริษัทเข้าถึงมวลชนได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ซีอีโอ แกร็บ กล่าวว่า ในส่วนของเงินชดเชยพนักงานที่ถูกปลดครั้งนี้ พวกเขาจะได้รับเงินชดเชยครึ่งเดือนสำหรับอายุงานทุกๆ 6 เดือน หรือตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายในท้องถิ่น แล้วแต่ว่าหลักเกณฑ์ใดจะให้เงินชดเชยสูงกว่า

นอกจากนี้ บริษัทจะให้การสนับสนุนการเปลี่ยนอาชีพและการพัฒนาตัวเองของพนักงานที่ถูกให้ออก ในรูปแบบของการเข้าถึงการสมัครสมาชิก LinkedIn Premium และการใช้ LinkedIn ฟรี 1 ปี รวมถึงการเข้าถึงคลาสการเรียนรู้กับโค้ชมืออาชีพ

ตัน กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการปลดพนักงานครั้งนี้ คือ การจัดระเบียบบริษัทใหม่อย่างมีกลยุทธ์ เพื่อให้แกร็บสามารถเคลื่อนที่เร็วขึ้น ทำงานอย่างชาญฉลาดขึ้น และปรับสมดุลทรัพยากรที่มีอยู่ “การปรับโครงสร้างจึงกลายเป็นขั้นตอนที่เจ็บปวดแต่จำเป็น เพื่อทำให้แกร็บอยู่บนวิถีที่ถูกต้องเพื่ออนาคตในระยะยาวของเรา”

พยายามลดต้นทุนสุดกำลัง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แกร็บ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปเรียกรถโดยสารและส่งอาหารอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดการณ์ว่ารายได้ปีนี้ (2023) จะเพิ่มขึ้น และช่วยให้บริษัทมีผลกำไรเป็นครั้งแรก ขณะที่ เดือนกันยายนปีที่แล้ว (2022) บริษัทระบุว่า ไม่มีแผนจะปลดพนักงานจำนวนมากอีก แม้ว่าตลาดจะซบเซาก็ตาม ซึ่งต่อมาในเดือนธันวาคม 2022 ซีอีโอของแกร็บแจ้งพนักงานว่า บริษัทจะหยุดรับคนเพิ่มในตำแหน่งส่วนใหญ่ และจะระงับการขึ้นเงินเดือนสำหรับผู้จัดการอาวุโส พร้อมๆ กับการปรับลดงบค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะแกร็บซึ่งมีสำนักใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ แม้จะเป็นผู้นำอยู่ในตลาดเรียกรถรับจ้างและจัดส่งสินค้าอาหารรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถทำกำไร เนื่องจากต้องใช้จ่ายไปกับการสร้างความเติบโตท่ามกลางการแข่งขันจากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น เช่น GoTo Group ของอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ จากรายงานประจำปีล่าสุดของแกร็บ โฮลดิงส์ ระบุว่า ณ สิ้นปีที่ผ่านมา (2022) แกร็บมีพนักงานอยู่ทั้งหมด 11,934 คน ปัจจุบันประกอบธุรกิจใน 8 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย

การปรับลดพนักงานครั้งใหญ่ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า แกร็บกำลังยอมจำนนต่อแรงกดดันของนักลงทุนในการลดต้นทุนให้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมา แกร็บลดค่าใช้จ่ายได้ช้ากว่าคู่แข่งรายอื่นในภูมิภาค เช่น GoTo และ Sea ของสิงคโปร์ ที่เลิกจ้างงานไปหลายพันคนในปี 2022

นอกจากนี้ แกร็บยังเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัว เนื่องจากลูกค้าต้องต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในขณะที่ บริษัทรายงานผลขาดทุนรายไตรมาสที่แคบลงเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่มูลค่ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเพียง 3% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. ถึง มี.ค.)

อีกสาเหตุ คือ การเติบโตของผู้ใช้บริการที่ยังชะลอตัว เนื่องจากคู่แข่งชักจูงลูกค้าไปได้ด้วยโปรโมชันและการลดราคา

ดังนั้น ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แกร็บจึงรายงานผลขาดทุนประจำไตรมาส ที่ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว ๆ 8,700 ล้านบาท) สิ่งที่พอจะเป็นข่าวดี คือ รายรับในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังสามารถเพิ่มขึ้น 130.3% จากปีที่แล้ว เป็น 525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,300 ล้านบาท)

ที่มา: บลูมเบิร์ก