โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่ง และความมั่นใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางสิ้นสุดลงแล้ว
โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเฉลี่ย 2.6% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก โดยคาดการณ์ไว้ที่ 2.1% โดยโกลด์แมนคาดว่าสหรัฐฯ จะแซงหน้าตลาดที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ อีกครั้ง โดยจะเห็นการเติบโตที่ 2.1% ซึ่งโกลด์แมนยังเชื่อด้วยว่า แรงกดดันจากนโยบายการเงินและการคลังนั้นจบลงแล้ว
สืบเนื่องจากความพยายามเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกในเดือนมีนาคม 2565 จนอัตราเงินเฟ้อพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวว่า “ไม่มั่นใจ” ว่า เฟดดำเนินการเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อเพียงพอแล้วหรือไม่ และแนะนำว่า อาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
โกลด์แมน มองว่า ผู้กำหนดนโยบายในตลาดที่พัฒนาแล้ว ไม่น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยก่อนครึ่งหลังของปี 2567 เว้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยตั้งข้อสังเกตว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในกลุ่ม G10 และเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ และคาดว่าจะผ่อนคลายลงต่อไป
“นักเศรษฐศาสตร์ของเราคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในปีนี้จะดำเนินต่อไปในปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะลดลงจาก 3% ในขณะนี้ เป็นช่วงเฉลี่ย 2-2.5% ในกลุ่ม G10 (ไม่รวมญี่ปุ่น)” รายงานระบุ
โกลด์แมนยังคาดว่า กิจกรรมโรงงานทั่วโลกจะฟื้นตัวจากการทรุดตัวลงเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากแรงต้านทางเศรษฐกิจจะคลี่คลายลงในปีนี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่า กิจกรรมการผลิตทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่อ่อนแอกว่าที่คาดในภาคการผลิตของจีนและวิกฤตพลังงานในยุโรป
การผลิตทั่วโลกทรุดตัวลงเกือบทั้งปี โดยมาตรวัดกิจกรรมการผลิตทั่วโลกของ S&P Global วัดได้อยู่ที่ 49.1 ในเดือนกันยายน ซึ่งตัวเลขที่อ่านได้ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวของกิจกรรม นอกจากนี้ PMI ภาคการผลิต Caixin/S&P Global ของจีนลดลงเหลือ 49.5 ในเดือนตุลาคม จาก 50.6 ในเดือนกันยายน ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมนคาดว่า กิจกรรมการผลิตน่าจะฟื้นตัวบ้างในปี 2567 จากที่ชะลอตัวลงในปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “รูปแบบการใช้จ่ายกลับสู่ปกติ ยุโรปสามารถจัดสรรการนำเข้าก๊าซได้ และอัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อ GDP มีเสถียรภาพ” นอกจากนั้นแล้วรายได้ที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตเชิงบวกด้วยเช่นกัน
ที่มา: ซีเอ็นบีซี