Fund Comment ธันวาคม 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment ธันวาคม 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ในเดือนธ.ค. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุประมาณ 0.10% – 0.30% จากเดือนก่อน   ยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ปรับลดลงกว่า 0.45% มาอยู่ที่ระดับ 3.88%  เป็นผลมาจากตลาดตราสารหนี้ที่ให้น้ำหนักต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เร็วขึ้นเป็นภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024  ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาในเดือนธ.ค.ยังส่งสัญญาณที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประจำเดือนพ.ย.ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.1% จาก 3.2% ในเดือนก่อน และการรายงานตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP) ในไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 4.9% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.1%   ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ  ตลาดเริ่มให้น้ำหนักต่อโอกาสที่ธปท.อาจจะผ่อนคลายนโยบายการเงินในปี 2024 มากขึ้น   หลังอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนพ.ย.ยังคงปรับลดลงมาอยู่ที่ -0.44% เป็นระดับติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันจากมาตรการลดค่าครองชีพต่างๆ ของภาครัฐ   

สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% – 5.50%  ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้   โดย FED ยังได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2024 ลงเล็กน้อยเหลือ 1.4% จากเดิม 1.50% และปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2024 เป็น 2.4% จากเดิม 2.50%  พร้อมทั้งยังส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่าน Dot plot โดย FED ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 3 ครั้งในปี 2024 สู่ระดับ 4.50% – 4.75%

สำหรับปัจจัยและความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ  ความคาดหวังของตลาดและ FED ที่ยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก   โดยตลาดคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รวดเร็วภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2024  และคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ถึง 4-5 ครั้งในปีหน้า   ขณะที่ Dot plot ล่าสุดของ FED บ่งชี้ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 3 ครั้งเท่านั้น    ซึ่งความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าวจะทำให้ตลาดเกิดความผันผวนต่อไปในอนาคต    สำหรับปัจจัยภายในประเทศ   ตลาดยังคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับติดลบอย่างต่อเนื่อง   รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และมาตรการลดค่าครองชีพต่างๆที่จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยและปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคต