Fund Comment มกราคม 2024: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มกราคม 2024: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ในเดือนม.ค. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น  0.07%-0.15% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปปรับลดลง 0.03%-0.09% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.15% มาอยู่ที่ 3.99% จากการที่ตลาดเริ่มให้น้ำหนักน้อยลงว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนมีนาคม ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประจำเดือนธ.ค. สูงกว่าคาดเล็กน้อย และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP) ในไตรมาส 4 ขยายตัว 3.3% ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 2% และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ 4.9% ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ตลาดเริ่มให้น้ำหนักต่อโอกาสที่ธปท.อาจจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินในปี 2024 มากขึ้น จากแรงกดดันจากรัฐบาล รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนธ.ค.ยังคงปรับลดลงมาอยู่ที่ -0.83% เป็นระดับติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันจากมาตรการลดค่าครองชีพต่างๆของภาครัฐ  

สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% – 5.50%  ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมส่งสัญญาณว่าจะไม่เร่งรีบที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยย้ำว่าจะรอข้อมูลทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีท่าทีเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยนโยบายว่าจะไม่เกิดขึ้นในการประชุมเดือนมี.ค. โดย FED ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 3 ครั้งในปี 2024 สู่ระดับ 4.50% – 4.75%

สำหรับปัจจัยและความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ  ความคาดหวังของตลาดและ FED ที่ยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก   โดยตลาดคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รวดเร็วภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2024  และคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ถึง 4-5 ครั้งในปี 2024 ขณะที่ Dot plot ล่าสุดของ FED บ่งชี้ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 3 ครั้งเท่านั้น   ซึ่งความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าวจะทำให้ตลาดเกิดความผันผวนต่อไปในอนาคต  สำหรับปัจจัยภายในประเทศ  ตลาดยังคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับติดลบอย่างต่อเนื่อง   รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และมาตรการลดค่าครองชีพต่างๆ ที่จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยและปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคต