สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ธนาคารกลางเยอรมนี (Bundesbank) กล่าวในรายงานประจำเดือนก.พ.ว่า เศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งถือเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป มีแนวโน้มเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย และการลงทุนในประเทศที่ถูกจำกัด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง
รายงานระบุว่า เยอรมนีพยายามอย่างหนักในการฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจ นับตั้งแต่เกิดเหตุรัสเซียบุกยูเครนเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันเศรษฐกิจของเยอรมนียังเติบโตเป็นศูนย์หรือติดลบ เป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนทั้งหมด
Bundesbank ระบุว่า “เศรษฐกิจเยอรมนียังไม่ฟื้นตัว และผลผลิตจะลดลงอีกเล็กน้อยในไตรมาส 1/2567 ซึ่งหากผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีประสบภาวะถดถอยทางเทคนิค”
ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ก่อให้เกิดคำถามถึงความยั่งยืนเกี่ยวกับแบบจำลองเศรษฐกิจของเยอรมนี โดยนักวิจารณ์ชี้ว่า อุตสาหกรรมหนักที่พึ่งพาพลังงานส่วนใหญ่กำหนดราคาที่สูงเกินไปในตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเยอรมนี ได้เร่งออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตสดใสอีกครั้ง โดยระบุว่านี่เป็นเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูง อุปสงค์ของจีนซึ่งเป็นชาติคู่ค้าสำคัญที่อ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงชั่วคราวเท่านั้น
บริษัทจำนวนมากต่างสั่งระงับการลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่ธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
ขณะที่การเติบโตของค่าจ้างที่สูง ยังส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ และการนัดหยุดงานในภาคส่วนสำคัญๆ เช่น การขนส่ง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในไตรมาสนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การขนส่งที่หยุดชะงักในทะเลแดง จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเยอรมนีมีกำลังการผลิตสำรองจำนวนมาก โดยค่าขนส่งเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของต้นทุนสินค้าโดยรวม
ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มอ่อนแอ แต่ธนาคารกลางคาดว่า ตลาดแรงงานจะไม่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง หลังจากที่ได้พยุงเศรษฐกิจจนถึงขณะนี้ และเยอรมนีจะไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในวงกว้างและยืดเยื้อแต่อย่างใด
ที่มา: รอยเตอร์