วันนี้ (8 พ.ค. 67) โครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service – C3S) ของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยในวันนี้ (8 พ.ค.) ว่า โลกเพิ่งเผชิญอุณหภูมิเดือนเม.ย.ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงทำลายสถิติติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11
C3S ระบุในแถลงการณ์ประจำเดือนว่า ในแต่ละเดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566 ถูกจัดให้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกับในปีที่ผ่านๆ มา
ขณะเดียวกัน C3S ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (พ.ค. 2566- เม.ย. 2567) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยยุคก่อนอุตสาหกรรมปี 2393-2443 อยู่ 1.61 องศาเซลเซียส
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ในกรณีที่เลวร้ายบางกรณี ซึ่งรวมถึงเดือนต่างๆ ที่เผชิญอุณหภูมิผิวมหาสมุทรสูงทุบสถิติติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์เริ่มตรวจสอบว่า กิจกรรมของมนุษย์ได้จุดชนวนให้เกิดจุดเปลี่ยนในระบบสภาพภูมิอากาศหรือไม่
นายจูเลียน นิโคลัส นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ด้านสภาพภูมิอากาศของ C3S กล่าวว่า “ผมคิดว่านักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้ตั้งคำถามแล้วว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสภาพภูมิอากาศหรือไม่”
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ก๊าซเรือนกระจกจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกอุ่นขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วในบางพื้นที่ในเดือนเม.ย. ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อนในเขตซาเฮล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก
ที่มา: รอยเตอร์