By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
BF Knowledge Center
ผู้ลงทุนในกองทุนรวมต่างต้องการผลตอบแทนดีๆ กันทั้งนั้น จะคาดหวังมากหรือน้อยก็แล้วแต่มุมมองและเป้าหมายของแต่ละคน แต่อย่างน้อยๆ ก็ควรจะมากกว่าอัตราดอกเบี้ยธนาคารที่เป็นการออมขั้นพื้นฐานของทุกคน อย่างไรก็ตามการลงทุนในกองทุนรวมมีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน จึงทำให้ผลของการลงทุนมีความแตกต่าง มีทั้งผู้ผิดหวังและสมหวังจากสิ่งที่ได้รับ
ผู้สมหวังได้ผลตอบแทนที่พอใจคงไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้ผิดหวัง เป็นเรื่องน่าคิดว่าเพราะอะไรจึงเกิดความผิดหวังเหล่านั้น และด้วยสภาวการณ์ลงทุนในปัจจุบันและจากนี้ไปที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนมากขึ้น ราคาทองคำยังไม่มีทิศทางที่แน่นอน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำร่ำๆ ว่าจะขึ้น กระทบกับราคาตราสารหนี้ทั่วโลก กลุ่มผู้ผิดหวังก็น่าจะมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มแรกๆ มากขึ้น
ลองมาดูกันครับ ว่าความผิดหวังของผู้ลงทุนเกิดจากอะไรได้บ้าง
1) ตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนโดยรวมของตลาดหุ้นไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดัชนี SETTRI (ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่รวมเงินปันผล) ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 10ปี ( ปี 2551 – 2560) เฉลี่ยสูงถึงปีละ 11.61% ทำให้เกิดความคาดหวังกับผู้ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทย ว่าเมื่อลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนสวยๆ อย่างนั้นบ้าง โดยอาจลืมไปว่าการลงทุนในหุ้นมีความผันผวนสูง และมีปัจจัยไม่แน่นอนมากมาย โดยเฉพาะในปีนี้ที่ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกหลายเรื่องมีผลต่อการลงทุน และกระทบกับตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทย ไม่นับประเด็นการเมืองในประเทศที่มีผลมากขึ้น เมื่อผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่คาดหวังหรืออาจจะไปถึงการขาดทุน ก็ย่อมทำให้เสียความรู้สึกได้
2) หวังผลเร็วเกินไป
ผลตอบแทนของดัชนี SETTRI ให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 7 ใน 10 ปีปฏิทินล่าสุด ( ดัชนี SETTRI สิ้นปีสูงกว่าต้นปี ) ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความคาดหวังว่า เมื่อลงทุนแล้วจะมีโอกาสได้กำไรมากกว่าขาดทุน แต่เมื่อลงทุนไปแล้วขาดทุน แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ย่อมเกิดผลทางจิตวิทยา ผิดหวังกับการขาดทุนในปีที่ลงทุน หรือแม้แต่บางคนที่อดทนรอได้ แต่เมื่อเกิดการขาดทุนนานหลายๆ เดือนเหรือผ่านไปเกิน 1 ปี แล้วยังขาดทุนอยู่ก็รู้สึกผิดหวังได้เช่นกัน
นักลงทุนควรไม่ลืมว่าแก่นแท้ของเลือกกองทุนหุ้น คือ การคาดหวังผลตอบแทนสูงในระยะยาวจากการลงทุนที่ต้องการเวลา และผู้ลงทุนต้องรอคอยได้
3) เลือกกองทุนผิดวัตถุประสงค์
เป็นประเด็นที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลตอบแทน แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากกองทุนรวมโดยไม่ตรงกับรูปแบบกองทุนนั้นๆ เช่น เลือกกองทุนหุ้นที่จ่ายปันผล เพราะหวังจะได้ปันผลสม่ำเสมอไปใช้จ่าย ทั้งที่การจ่ายปันผลของกองทุนหุ้นจะขึ้นกับผลตอบแทนเป็นสำคัญ มีความผันผวนสูง
หรืออยากเก็บออมไว้ใช้ยามเกษียณแต่เลือกกองทุนที่จ่ายปันผล ก็ย่อมจะผิดหวังที่ลงทุนมานาน แต่มูลค่าหน่วยลงทุนไม่ไปไหนสักที (เพราะมูลค่าหน่วยลงทุนจะลดลงทุกครั้งที่มีการจ่ายปันผลออกไป) ในกรณีนี้การเลือกลงทุนที่ผิดพลาด ไม่เหมาะกับแผนการลงทุน ยังอาจจะกระทบต่อกระแสเงินสดของผู้ลงทุนด้วย
ในกรณีนี้หากผู้ลงทุนเลือกที่จะลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีรูปแบบการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอกว่า ก็จะตรงวัตถุประสงค์มากกว่า
สำหรับตอนถัดไปจะขอมานำเสนอว่าความผิดหวังของผู้ลงทุนเกิดจากอะไรได้บ้างต่ออีก 4 ข้อครับ