By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
BF Knowledge Center
ตอนที่ผ่านมา ได้นำเสนอผ่านไปแล้ว 3 ข้อสำหรับสาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่ผิดหวังจากกองทุนรวม ได้แก่ การตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป การหวังผลที่เร็วเกินไป และการเลือกกองทุนไม่ตรงกับวัตถุประสงค์
ในครั้งนี้ จะขอกล่าวถึงอีก 4 ข้อที่เหลือ
4) ไม่เข้าใจกลไกของกองทุนรวม
กองทุนรวมเป็นรูปแบบการลงทุนที่มีหลักการง่ายๆ ไม่ซับซ้อน นั่นคือการรวบรวมเงินจากผู้ลงทุนหลายๆ ราย รวมเป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วให้ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพที่ทำงานเต็มเวลาคอยบริหารจัดการให้ ตามนโยบายที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน โดยมีระดับความเสี่ยงและโอกาสรับผลตอบแทนอ้างอิงตามนโยบายการลงทุน แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้ลงทุนผิดหวังกับกองทุนรวม เนื่องจากความไม่เข้าใจกลไกหรือเรื่องราวทางเทคนิค
เช่น การที่นักลงทุนผิดหวังกับมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายปันผล เพราะลงทุนมานานแต่มูลค่าหน่วยลงทุนกลับไม่ไปไหน แถมถึงยังขาดทุน (มูลค่าหน่วยลงทุนปัจจุบันต่ำกว่าตอนที่ซื้อ) ทั้งที่จริงๆ แล้วธรรมชาติของกองทุนรวมที่จ่ายปันผล โดยเฉพาะกองทุนหุ้น ราคาหน่วยลงทุนจะไม่ค่อยไปไหน เนื่องจากเมื่อกองทุนมีผลประกอบการดี พอถึงรอบการจ่ายปันผลก็จะมีการนำเงินออกจากกองทุนไปจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุน ทำให้หน่วยลงทุนของกองทุนหุ้นที่จ่ายปันผลไม่เติบโตเหมือนกับกองทุนที่ไม่มีนโยบายจ่ายปันผล ซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติ
5) เลือกกองทุนไม่ตรงกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จริงๆ
ประเด็นนี้เป็นปัญหาพื้นฐานและเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนย้อนหลังค่อนข้างดี ล่อตาล่อใจนักลงทุน ยิ่งพอเทียบกับผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำเตี้ยแล้ว ทำให้นักลงทุนจำนวนมากที่อึดอัดกับอัตราดอกเบี้ย ต่างอยากได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น หันมาเลือกลงทุนในกองทุนหุ้น โดยไม่ได้จัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสม หรือลงทุนโดยไม่ได้พิจารณาว่าตนเองรับความเสี่ยงของกองทุนหุ้นได้หรือไม่ เมื่อเผชิญกับความผันผวนที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เงินลงทุนติดลบ จึงเกิดความเครียดและความผิดหวังตามมา
6) ผลงานกองทุนไม่เหมือนอดีตที่เคยทำไว้
การเลือกกองทุนรวมให้ถูกทุกครั้งเป็นเรื่องยาก โดยคำว่าถูกในที่นี้ก็คือ เลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีตรงกับที่คาดหวังไว้ หรือได้ผลตอบแทนสูงๆ ไว้ก่อน โดยนักลงทุนมักนิยมเลือกกองทุนโดยดูผลงานในอดีตที่กองทุนเคยทำไว้ แต่อย่าลืมว่าผลงานในอดีตไม่ใช่สิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต การลงทุนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน กำไรขาดทุนจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับฝีมือของผู้จัดการกองทุน สไตล์การบริหารกองทุน และปัจจัยหลากหลายที่คาดเดาไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่กองทุนตราสารหนี้ เช่น
- พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
- ปัจจัยการเมืองในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศที่กระทบกับกิจการของหุ้นที่ลงทุน
- ปัจจัยเฉพาะสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ที่กองทุนนั้นๆ ลงทุนเฉพาะ
- อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับกองทุนตราสารหนี้และกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ
- กระแสเงินสดของนักลงทุนต่างประเทศ
- ฯลฯ
ปัจจัยข้างต้น ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนควบคุมไม่ได้ แต่สามารถลดทอนความเสี่ยงลงได้จากการกระจายการลงทุนที่ดี การคัดเลือกหุ้นที่เหมาะสม มีพื้นฐานดี และมีระยะเวลาลงทุนที่นานพอ รวมถึงเทคนิคการหุ้นที่ปลอดภัยหรือได้ประโยชน์จากปัจจัยที่มีผลกระทบนั้นๆ ซึ่งเป็นการวัดฝีมือของผู้จัดการกองทุนโดยแท้
7) กองทุนไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้อย่างที่โฆษณา
ปัจจุบันมีเม็ดเงินที่ลงทุนในกองทุนรวมในประเทศไทยสูงถึง 5 ล้านล้านบาท รวมถึงเป็นแหล่งรายได้ค่าธรรมเนียมสำคัญสำหรับธนาคารพาณิชย์ในฐานะตัวแทนขายกองทุนรวม ซึ่งจะมีรายได้จากบริษัทจัดการต่างๆ เช่น ส่วนแบ่งค่าจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมการเป็นนายทะเบียน ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย รวมถึงเงินปันผลประจำปีของบริษัทจัดการกองทุนที่เป็นบริษัทลูก รายได้เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่จะมาชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมส่วนอื่นที่นับวันจะลดลงเรื่อยๆ ของธนาคารพาณิชย์ การแข่งขันในธุรกิจกองทุนรวมที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความพยายามผลักดันให้มีกองทุนรวมใหม่ๆ ที่เป็นโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และรูปแบบกองทุนที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนได้ตรงกลุ่ม เกิดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ขายความคาดหวัง และโอกาสรับผลตอบแทนดีๆ ในอนาคต
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดความคาดหวังกับผู้ลงทุน แต่ในเมื่อการลงทุนไม่มีความแน่นอน ความผันผวนเกิดขึ้นได้ทุกขณะระหว่างการลงทุน เมื่อเกิดผลขาดทุน ก็ยอมทำให้ผู้ลงทุนผิดหวัง เพราะตั้งความหวังไว้สูงกับกองทุนใหม่ๆ เหล่านั้น