ผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เผยแพร่ในวันนี้ (20 มิ.ย.) พบว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามสหรัฐฯ โดยระบุว่ากำลังการผลิตที่มากเกินไปในภาคอุตสาหกรรมของจีนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพวกเขา
เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเซมิคอนดักเตอร์ โดยวิจารณ์รัฐบาลจีนว่า ให้เงินอุดหนุนมากเกินไป และมีนโยบายที่ทำให้สินค้าราคาถูกทะลักเข้าสู่ตลาดโลก
ในทำนองเดียวกัน สหภาพยุโรป (EU) ก็ยังได้เรียกเก็บภาษีนำเข้ารถ EV จีนเป็นจำนวนมาก และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก G7 ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น ได้สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนใช้ “แนวทางการปฏิบัติอย่างไม่สอดคล้องกับระบบตลาด” (non-market practices)
แต่ 61% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 5-14 มิ.ย. กล่าวว่า ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการแบบเดียวกันนี้ และประมาณ 53% กล่าวว่า กำลังการผลิตที่มากเกินไปของจีนมีผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขาเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
“มันอาจนำไปสู่การยกระดับมาตรการและการตอบโต้กันไปมา และสภาพเศรษฐกิจจะแย่ลง” ผู้จัดการบริษัทเคมีรายหนึ่งเขียนไว้ในส่วนความคิดเห็นของแบบสำรวจ
อนึ่ง แบบสำรวจบริษัท 492 แห่งนี้ จัดทำโดยนิกเกอิ รีเสิร์ช (Nikkei Research) ให้กับรอยเตอร์ โดยบริษัทต่างๆ ตอบแบบสำรวจโดยไม่เปิดเผยชื่อ และมีบริษัทตอบแบบสำรวจประมาณ 230 แห่ง
สำหรับคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ที่จะให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องนั้น มีบริษัทในแบบสำรวจเพียง 7% เท่านั้นที่คิดว่าเป็นไปได้ ส่วนอีก 50% มองว่าเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่ 43% กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้
“ฉันเกรงว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากจะมีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย หากพวกเขาขึ้นค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อ” ผู้จัดการบริษัทค้าส่งรายหนึ่งเขียน
เพื่อเป็นมาตรการชั่วคราวในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลคิชิดะจึงกำลังปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อปีลง 30,000 เยน (190 ดอลลาร์) และภาษีที่อยู่อาศัย 10,000 เยน สำหรับผู้เสียภาษีแต่ละราย นอกจากนี้ ผู้เสียภาษียังสามารถขอรับสิทธิลดหย่อนภาษีในจำนวนเท่ากันสำหรับผู้อยู่ในอุปการะและคู่สมรสที่มีรายได้จำกัด
อย่างไรก็ดี 69% ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจเห็นว่ามาตรการดังกล่าวมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ในด้านการเมืองภายในประเทศ 54% ของบริษัทต่างๆ คาดว่า นายคิชิดะจะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายในสิ้นปีนี้ อันเป็นผลมาจากประเด็นอื้อฉาวของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคฯ มากกว่า 80 คน ได้รับเงินจากงานระดมทุนโดยไม่ลงบันทึกในบัญชี ส่งผลให้อัยการสั่งฟ้องสมาชิกสภานิติบัญญัติไปแล้ว 3 คน
สำหรับตำแหน่งผู้นำประเทศคนต่อไป นายชิเงรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือตัวเลือกอันดับหนึ่งของภาคธุรกิจญี่ปุ่น โดย 24% ของบริษัทต่างๆ มองว่า เขาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งที่เหมาะสม รองลงมาคือ นางซานาเอะ ทากาอิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ 14%
ประมาณ 80% ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า หากนายคิชิดะยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ พวกเขาต้องการให้พรรค LDP และพรรคโคเมอิโตะ (Komeito) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป และมีเพียง 6% เท่านั้นที่ต้องการรัฐบาลที่นำโดยพรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย (CDP) ซึ่งปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด
หากรัฐบาลผสมสูญเสียอำนาจ “ฉันเกรงว่าความวุ่นวายทางการเมืองอาจพัฒนาไปเป็นความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นอ่อนแอลง” ผู้จัดการบริษัทอาหารรายหนึ่งระบุ
ที่มา: รอยเตอร์