“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้จุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง จากกำลังซื้อซึมยาว การใช้จ่ายภาครัฐกระจุกตัว “ซีไอเอ็มบีไทย” ห่วงกำลังซื้อระดับล่าง-กลางอ่อนแอ ลามกระทบธุรกิจขนาดใหญ่พัง “อีไอซี” มองความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมาจากต่างประเทศมากสุด
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 กำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการฟื้นตัว ซึ่งมีทั้งปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นที่มีผลต่อกำลังซื้อและการลงทุน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงระยะยาวที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ มองว่ามี 4 ความเสี่ยงที่สำคัญ คื
1.กำลังซื้อระดับกลาง-ล่างเริ่มซึม สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เริ่มส่งสัญญาณแผ่วลง ตัวเลขค้าปลีกเริ่มเห็นสัญญาณซึมยาว เหล่านี้ฟื้นตัวช้ากว่าคาดไว้ ดังนั้น สิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีแค่กำลังซื้อระดับกลางบนถึงบน และเริ่มเห็นแก๊ปหรือส่วนต่างรายกว้างขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าห่วงระยะถัดไปคือ ปัจจุบันเริ่มเห็น “เอสเอ็มอี” มีปัญหา แต่สิ่งที่ห่วงต่อไปจะเริ่มฉุดธุรกิจขนาดใหญ่หากปล่อยให้ปัญหาซึมต่อไปจะลามจากระดับล่างขึ้นมากลาง และสุดท้ายลามสู่ธุรกิจใหญ่ที่เริ่มเห็นลูกค้าน้อยลง
2. การใช้จ่ายภาครัฐกระจุกช่วงปลายปี ขณะที่ ช่วงโลว์ซีซั่น (มิ.ย.-ก.ย.) ขาดเงินที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น ไม่มั่นใจว่าจะช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดกว่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะห่วงการหมุนเงินของคนระดับล่างที่มีปัญหาต่อเนื่อง
3.ภาคต่างประเทศมีทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจกระทบการฟื้นตัวภาคส่งออกไทย แม้วันนี้ตัวเลขส่งออกออกมาดี แต่ต้องจับตาว่าจะมีมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มหรือไม่ ที่อาจกระทบการค้าการลงทุนกับไทย
“วันนี้ไทยถือว่าตกขบวนจากการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากจีนมาอาเซียน จะเห็นว่าจีนเข้าไปที่เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่มาไทยน้อยมาก ซึ่งเท่ากับไม่มีเม็ดเงินใหม่กลับเข้ามา และอนาคตจะยิ่งเสี่ยงโตช้าแรงขับเคลื่อนของเรามีจำกัด”
4.ความเสี่ยงจากจีนวันนี้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าแรง ซึ่งมีความเสี่ยงจะฉุดให้ค่าเงินภูมิภาคอ่อนตาม อีกทั้งสหรัฐฯ ไม่รีบลดดอกเบี้ยอาจต้องระมัดระวังเงินบาทที่อาจอ่อนค่า รวมทั้งอีกประเด็นที่น่าห่วง คือ ความเชื่อมั่นต่างชาติอาจลดลงหากสถานการณ์แย่ลง โดยเศรษฐกิจไทยที่มองว่าฟื้นตัวครึ่งปีหลัง มีโอกาสพลิกผันได้
“วันนี้เรามองการฟื้นตัวค่อนข้างต่ำอยู่แล้วทั้งปี 2.3% แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ โตช้าในไตรมาส 2-3 แล้วเร่งช่วงไตรมาส 4 แต่เศรษฐกิจจะฟื้นครึ่งปีหลังอาจไม่ค่อยชัดเจน โดยเฉพาะไตรมาส 3 แต่จะเป็นฟื้นไตรมาส 4 จากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งหลายภาคส่วนเริ่มตายเพราะเอสเอ็มอีไม่มีสภาพคล่องและอาจอยู่รอไม่รอดถึง ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจใหญ่หรือกำลังซื้อที่คิดว่าดีอาจถูกผลกระทบรุนแรงได้”
ห่วงความเสี่ยงต่างประเทศลามกระทบไทย
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่สุด คือ ความเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยจากการเมืองระหว่างประเทศทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่นำมาสู่ความเสี่ยงต่อประเทศอื่นรวมถึงไทยมากขึ้น
โดยเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือปี 2567 ให้ย่อตัวลงเพราะปัญหาดังกล่าวหากรุนแรงหรือเกิดสงครามนอกประเทศอาจกระทบภาคการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนไทยถ้าจัดการปัญหาไม่ได้อาจสะสมความเปราะบางมากขึ้น และหากอนาคตเกิดความเสี่ยงนอกประเทศมากระทบเศรษฐกิจไทยจะยิ่งเปราะบางขึ้น เศรษฐกิจจะชะลอง่ายขึ้น
“เป็นห่วงความเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนที่ยิ่งสะสมความเปราะบางมากขึ้น และหากถ้าความเสี่ยงจากข้างนอกประเทศเข้ามาอีก ความเปราะบางที่มีอยู่แล้ว ก็จะทำให้เศรษฐกิจแตกระแหงได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นไปอีก ดังนั้นน่ากลัวมาก”
“ทีดีอาร์ไอ”ชี้ไทยเสียโอกาสเศรษฐกิจฟื้น
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจไทยระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า มีความเสี่ยง 2 มิติ ประกอบด้วย
1.มิติเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นจากภาวะดอกเบี้ยลดลง เช่น ยุโรป ส่วนธนาคารกลางของสหรัฐคาดว่าจะลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ และ 4 ครั้ง ปีหน้า ทำให้ดอกเบี้ยไทยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งช่วยสนับสนุนการลงทุน ขณะที่ปัจจัยในประเทศมีปัจจัยบวกจาก พ.ร.บ.งบประมาณ และนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลที่จะเริ่มทยอยออกมา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางบวก
“เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ช่วงรุ่งเช้าเป็นช่วงมืดมิด แต่แสงยามเช้ากำลังจะเข้ามาทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มผ่านวัฏจักรดอกเบี้ยสูงโดยไม่เกิดสภาวะถดถอยรุนแรง และเศรษฐกิจภายในที่การใช้จ่ายภาครัฐกำลังกลับมา”
2.มิติการเมือง ที่สร้างความกังวลระยะสั้นว่าจะทำให้แสงอาทิตย์ยามเช้ามาล่าช้าหรือไม่ เพราะมีทั้งการถอดถอนนายกรัฐมนตรีและการยุบพรรคการเมือง ซึ่งหากการเมืองไม่นิ่ง เช่น มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี หรือมีการประท้วงทางการเมืองย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและทำให้ไทยอาจพบกับช่วงมืดมิดอีกระยะหนึ่ง
สำหรับระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า น่าเสียดายโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้ดีนัก โดยไทยอาจเป็นผู้นำหลายด้าน เช่น ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ท้ายที่สุดไทยจะได้อะไรจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีโลกปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งน่ากังวลว่าไทยจะเสียโอกาสตักตวงผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน
ปิดโรงงานสะท้อนแข่งขันไม่ได้
สถานการณ์ภาคการผลิตได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีโรงงานปิดกิจการ 485 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุน 13,990 ล้านบาท และพนักงานถูกเลิกจ้าง 12,472 คน โดยกลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตรอุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร เป็นกลุ่มที่มีการเพิ่มขึ้นของการปิดตัวโรงงานมากที่สุด
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการมากที่สุด 3 อันดับ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ และกลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้
สำหรับสาเหตุหลักของการตัดสินใจปิดโรงงานอุตสาหกรรมเกิดจากสินค้าส่งออกของไทยได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากไม่มีสินค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไฮเทคที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก ประกอบกับการขยายตัวของคู่แข่งในภูมิภาคที่สามารถผลิตสินค้าในกลุ่มเดียวกับไทยได้ เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร
รวมทั้งมาจากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเก่า และเป็นการผลิตขั้นกลางหรือเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ทำให้ขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาพัฒนากระบวนการผลิตและการพัฒนาสินค้าใหม่ รวมถึงปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ดอกเบี้ยเงินกู้และค่าโลจิสติกส์ ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้
“จีนเที่ยวจีน”กระทบเป้าท่องเที่ยวไทย
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า จำนวนรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นตัวเท่าปี 2562 ก่อนโควิดระบาด โดยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 46,208 บาท ต่ำกว่าปี 2562 ที่มีค่าใช้จ่าย 47,895 บาท ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีความคาดหวังนักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ไทย
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ยอดจองและการค้นหาเห็นชัดว่า ความต้องการเดินทางไปต่างประเทศในฤดูร้อนเพิ่มขึ้น ทริปดอทคอมกรุ๊ปพบการเดินทางจากจีนไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ครึ่งหนึ่งเป็นการพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศช่วงวันหยุด
ตงเจิ้งทราเวล (Tongcheng Travel) เว็บไซต์จองโรงแรมและการเดินทางแบบออนไลน์ที่ชาวจีนนิยมใช้บริการ กล่าวว่า ชาติเอเชียที่มีนโยบายวีซ่าฟรีมียอดจองการเดินทางเพิ่มขึ้นเร็ว ไทยและสิงคโปร์กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
หากพิจารณา 9 ปลายทางที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทาง ฮ่องกงและมาเก๊า เป็นเขตปกครองพิเศษของจีนเข้าข่าย “จีนเที่ยวจีน” สอดคล้องรายงานข่าวของรอยเตอร์ที่ว่า 18 เดือนแล้วที่จีนยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์และเปิดประเทศอีกครั้ง แต่การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนไม่มากเท่าที่ตลาดคาดหวัง อีกทั้งเปลี่ยนไปเที่ยวในประเทศมากขึ้น
นายหลิว ซี่หมิน รองประธานสาขาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคมจีนเพื่ออนาคตศึกษา คาดการณ์ว่าการเดินทางไปต่างประเทศของจีนจะไม่ฟื้นสู่ระดับก่อนโควิดไปอีก 5 ปี โดยการฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดมาก เงินหยวนอ่อนค่าผนวกกับเงินเฟ้อในสหรัฐและยุโรปกระหน่ำซ้ำเติม
ที่มา: รอยเตอร์