เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาสสองเติบโต 5.9% จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อนหน้า มากยิ่งกว่า 4.2% ในไตรมาสแรก ขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนบางประเทศเติบโตระดับ 6%
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานข้อมูลจากธนาคารกลางมาเลเซีย ถึงตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของมาเลเซีย ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. เติบโตแข็งแกร่งที่สุด นับตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2565 ที่ 5.9%เกือบจะเท่ากับผลสำรวจของรอยเตอร์จาก นักเศรษฐศาสตร์ 20 คน ระหว่างวันที่ 7-13 ส.ค. ที่มองว่า เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาสสองขยายตัว 5.8%
หากพิจารณาในรายละเอียด การบริโภคภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่งในไตรมาสสอง ได้แรงหนุนจากการลงทุนที่เข้มแข็งทั้งจากภาครัฐและเอกชน
อับดุล ราชิด กัฟฟอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลาง ระบุ “ในภาพรวมคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเข้าใกล้ 4% ปลายๆ ถึง 5% (ปีนี้) แต่แน่นอนว่ายังต้องขึ้นอยู่กับความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก บานปลาย และผลผลิตสินค้าโภคภัณฑ์คาดว่าตกต่ำ”
นอกจากนี้ เศรษฐกิจมาเลเซียยังได้อานิสงส์จากเทคโนโลยีโลกที่อยู่ในวงจรขาขึ้น กิจกรรมการท่องเที่ยวแข็งแกร่ง กว่าเดิมเพิ่มเติมจากการทำโครงการ การลงทุนที่มีอยู่แล้วและโครงการใหม่
การส่งออกขยายตัว 8.4% หลังจากโต 5.2% ในไตรมาสแรก เนื่องจากประเทศยังคงได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทระดับโลกเปลี่ยนซัพพลายเชน
การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในไตรมาสแรก มาอยู่ที่ 6.0% ได้แรงหนุนจากเงื่อนไขตลาดแรงงานดี มีนโยบายสนับสนุนมากขึ้น
ในรายอุตสาหกรรม ภาคการผลิตเติบโต 4.7% เพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในไตรมาสหนึ่ง ภาคบริการขยายตัว 5.9% จาก 4.8% ในไตรมาสก่อนหน้า
ภาคเกษตรกรรมขยายตัว 7.2% จาก 1.7% ในไตรมาสหนึ่งผลพวงจากอุตสาหกรรม ปาล์มน้ำมัน ตรงข้ามกับอุตสาหกรรม เหมืองแร่และเหมืองหินชะลอตัวลงจาก 5.7% มาอยู่ที่ 2.7% ในไตรมาสสอง ผลพวงการผลิตก๊าซธรรมชาติอ่อนแรง
ธนาคารกลางคาดการณ์ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้จะทะลุ 2.24 หมื่นล้าน ริงกิต (1.79 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น จาก 2.14 หมื่นล้านริงกิต ในปี 2566 ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวคาดว่าสูงกว่าระดับก่อนโควิดระบาดที่ราว 27.3 ล้านคน อานิสงส์การเพิ่มเที่ยวบิน อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียเพิ่มขึ้นจากโครงการยกเว้นวีซ่า
ช่วงครึ่งแรกของปีเงินริงกิตแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทะลุระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน แสดงให้เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโต ธนาคารกลางรายงานว่า ปีนี้นับถึงวันศุกร์ (16 ส.ค.)เงินริงกิต แข็งค่าขึ้นแล้ว 3.8% เมื่อเทียบกับ ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม แม้สกุลเงินมาเลเซียส่งสัญญาณฟื้นตัวแข็งแกร่ง แต่ธนาคารกลางกล่าวว่า เงินริงกิตยังคงเผชิญกับความผันผวนและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้าย ไม่แน่นอน
ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามรายงานเศรษฐกิจ ไตรมาสสองขยายตัว 6.93% ฟิลิปปินส์ 6.3%
แม้สกุลเงินมาเลเซียส่งสัญญาณฟื้นตัวแข็งแกร่ง แต่เงินริงกิตยังคงเผชิญกับความผันผวนและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ ที่เลวร้าย ไม่แน่นอน
ที่มา: รอยเตอร์