ธนาคารกลางเกาหลีใต้หั่นดอกเบี้ย 0.25% หลังตัวเลขภาคอสังหาฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว และเงินเฟ้อลดลง สะท้อนความกังวลต่อการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ซบเซา ทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯธนาคารกลางเปรยว่า อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับนี้ต่อไปอีก 3 เดือน
วันที่ 11 ตุลาคม 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 3.50% เหลือ 3.25% หลังตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งสัญญาณชะลอตัว และเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางการสามารถเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยการเปลี่ยนทิศนโยบายได้อย่างระมัดระวัง
จากแบบสำรวจของบลูมเบิร์กที่สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 20 คนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะลดอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 7 วัน (7-Day Repurchase Rate) ซึ่งเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงหลักลง 25 เบซิสพอยต์ (0.25%) เหลือ 3.25%
รี ชางยง (Rhee Changyong) ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน 5 คนมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับเติมต่อไปอีกสามเดือนข้างหน้า ซึ่งลดความน่าจะเป็นที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม มีกรรมการคัดค้านการลดอัตราดอกเบี้ย 1 เสียง
ผู้ว่าการธนาคารกลาง เกาหลีใต้ กล่าวในที่แถลงข่าวหลังการประชุมว่า ถือเป็นการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยแบบ “hawkish cut” หรือก็คือการลดอย่างแข็งกร้าว ซึ่งตลาดก็สะท้อนมุมมองดังกล่าวเช่นกัน โดยเงินวอนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์
ธนาคารกลางเกาหลีใต้เข้าร่วมกระแสการเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางอื่นๆ โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อฟื้นโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ที่มีภาวะเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงแล้วในขณะนี้ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 เบซิสพอยต์ (0.50%) เมื่อเดือนกันยายน เนื่องจากหันมาให้ความสำคัญกับการทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะยังโตต่อไปได้ (Soft Landing) มากกว่าการต่อสู้กับเงินเฟ้อที่เคยให้ความสำคัญมาก่อนหน้านี้
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.5% นานกว่าปีครึ่ง ผู้กำหนดนโยบายขยายระยะเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยมาตลอด ด้วยเกรงว่าการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไปอาจทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ดีดตัวขึ้น และเป็นภัยต่อเสถียรภาพทางการเงินได้
ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยอาจสะท้อนข้อกังวลต่อการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ซบเซากับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) ของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ที่เต็มไปด้วยลูกหนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเงิน (Interest Expenses) ซึ่งฉุดการบริโภค จนสมาชิกรัฐสภาต้องออกมาเรียกร้องให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ย
ที่มา: บลูมเบิร์ก