สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) เริ่มใช้มาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนในอัตรา 45% แล้ว หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาของ EU เมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากมีการเจรจามานานหลายเดือน โดยภาคอุตสาหกรรมยานยนต์พยายามเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีดังกล่าว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จีนอาจใช้มาตรการตอบโต้กลับ และส่งผลให้ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างมหาอำนาจโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น
สำหรับอัตราภาษีใหม่ของ EU จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ผลิต โดยอยู่ระหว่าง 8-35% จากเดิมในอัตรา 10% โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กำหนดภาษีนำเข้า 7.8% สำหรับ Tesla และ 35.3% สำหรับแบรนด์ SAIC ของจีน
การปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของยุโรปสร้างอุปสรรคต่อผู้ผลิตรถยนต์ในจีนเพิ่มขึ้น หลังถูกสหรัฐฯ สกัดกั้นในการเข้าเจาะตลาด ด้วยการเก็บเพิ่มภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 100% ในปีนี้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนการผลิตเพื่อให้สามารถทำตลาดในราคาต่ำ ขณะที่ ปริมารณการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 70% เมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี แม้ภาษีอัตราใหม่จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ EU และ จีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับสอง จะยังคงเจรจาเพื่อหาทางออกในประเด็นนี้กันต่อไป แม้การเจรจาในช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม ซึ่งสถานการณ์ที่ยังคลุมเครืออยู่เช่นนี้ อาจนำไปสู่การยกระดับมาตรการตอบโต้และกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 7.39 แสนล้านยูโร (7.99 แสนล้านดอลลาร์) ในปี 2023
ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนออกมาระบุหลัง EU ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า EV โดยจีนยังคงแสดงความหวังว่า จะสามารถหาทางออกที่สามารถยอมรับได้ร่วมกับ EU และในระหว่างนี้ จีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกวิถีทางเพื่อปกป้องบริษัทจีน
ตัวแทนคณะเจรจาของจีนและ EU ยังคงหาแนวทางว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงประเด็นการตัดราคา (price undertakings), กลไกที่ซับซ้อนในการควบคุมราคาและปริมาณการส่งออกที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า ซึ่ง EU อ้างว่าเป็นมาตรการตอบโต้การอุดหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน
ทั้งนี้ มาตรการขึ้นภาษีจากฝั่งตะวันตกหลายระลอกในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้น เนื่องจากความกังวลว่า จีนอาจขึ้นมาครองตลาดยานยนต์โลก และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในสหรัฐฯ และยุโรป โดย BYD ซึ่งเป็นผู้ผลิต EV ชั้นนำของจีน ได้นำเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบใหม่มาใช้ในปี 2020 และขยับจากการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในตลาดจีน ขึ้นเป็นหนึ่งใน 10 ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลก
ที่มา: บลูมเบิร์ก