Economic Update: COP 29

Economic Update: COP 29

โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM

การประชุมสมัชชาภาคีครั้งที่ 29 ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  หรือ COP 29 (United Nations Climate Change Conference) กำลังจัดขึ้นที่กรุง Baku เมืองหลวงประเทศ Azerbaijan ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย. 2024 เป็นการประชุมประจำปี ที่จะหารือในด้านความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากประเทศทั่วโลก โดยมีตัวแทนจากประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศ

ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงเป็นประเด็นแรก คือ การบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับ มาตรา 6.4 (Article 6.4) ในระดับโลก และกำหนดให้ประเทศทั่วโลกสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ผ่านตลาดที่ดำเนินการโดยสหประชาชาติ และคาดหวังว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะสามารถดึงดูดเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์ฯ เพื่อสนับสนุนโครงการลดการปล่อยมลพิษในประเทศที่กำลังพัฒนา

วัตถุประสงค์หลักของ COP 29 คือ การดำเนินการ NCQG (New Collective Quantified Goal on Climate Finance) เพื่อใช้เป็นเป้าหมายใหม่ของการลงทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต้องจัดสรรวงเงินราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ Green Transition และช่วยเหลือเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้น หากเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี เกือบ 10 เท่า ทั้งนี้ เม็ดเงินดังกล่าวจะได้รับและจัดสรรจากทั้งหน่วยงานของภาครัฐและธนาคารพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Banks e.g. World Bank)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้นำหลายประเทศตัดสินใจไม่เข้าร่วมงาน COP ในปีนี้ อาทิ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี Olaf Scholz ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Emmanuel Macron และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) Ursula von der Leyen รวมไปถึงผู้นำของสองประเทศมหาอำนาจ เช่น Joe Biden และ Xi Jinping ก็ไม่ได้เดินทางไปร่วมงาน COP เช่นกัน เราคาดว่าสาเหตุส่วนหนึ่ง เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านผู้นำทางการเมือง ซึ่งอาจต้องอาศัยความชัดเจนเมื่อผู้นำคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสหรัฐฯ ที่ Donald Trump เพิ่งจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นว่าที่ประธานาธิบดี หรือ President-Elect เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เม็ดเงินจาก COP29 ที่ไต่ระดับไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี อาจจะดูมากเกินไปสำหรับ Trump ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ไม่ค่อยจะอินกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่าไรนัก