สรุปการประชุม Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22

สรุปการประชุม Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22

โดย ทีม Economic Research, BBLAM

การประชุม Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 จัดขึ้นในวันที่ 20-21 พ.ย. 2024 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้ประกอบการ และนักลงทุนกว่า 400 คนจากทั่วโลกเข้าร่วม ภายใต้ธีม “New Paradigms” (แนวคิดใหม่) โดยมุ่งเน้นสำรวจอนาคตที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วในปี 2024 ในตลอดการประชุมทั้ง 2 วันมีการร่วมอภิปรายในหัวข้อที่หลากหลาย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลก โอกาสทางธุรกิจในประเทศไทย และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โดยในการประชุมได้จัดการสัมภาษณ์แบบ 1-on-1 ระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และ Steve Forbes ประธานกรรมการ Forbes Media ซึ่งได้แลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจโลก แสดงมุมมองเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจของไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ :

นโยบายเกี่ยวกับภาษี

อดีตนายกฯ ทักษิณ กล่าวว่า การลดภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมองว่า อัตราภาษีนิติบุคคลในประเทศไทย (CIT) ยังคงอยู่ในระดับสูง (20%) เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ซึ่งมีอัตราภาษีเพียง 17%  ส่งผลให้สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกตัวอย่างการลดภาษีในยุครัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ว่า มีประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ภาษีรวม พร้อมย้ำว่า การลดอัตราภาษีจะช่วยส่งเสริมให้ SMEs สามารถเติบโตได้ โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และ Soft Power ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย

อย่างไรก็ตาม อดีตนายกฯ มองว่า อัตราภาษีที่เหมาะสมสำหรับไทยควรลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และจัดทำระบบคืนภาษีให้ผู้มีรายได้น้อยแบบ Negative Income Tax (NIT)

การลงทุนในเทคโนโลยี

อดีตนายกฯ ได้แสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถดึงดูดบริษัทระดับโลก อาทิ Data Center และ Smart Grid รวมไปถึงการทำ Energy Transition เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและลดต้นทุนด้านพลังงาน โดยมีมุมมองว่า ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันยังคงสูงเกินไป หากลดต้นทุนได้ จะเพิ่มความน่าสนใจให้ประเทศในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค

ประเด็นมุมมองเศรษฐกิจโลก

แม้ความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่อดีตนายกฯ กลับมองว่า เป็นโอกาสสำคัญในการดึงดูดฐานการผลิตให้ย้ายมาที่ประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากร ทั้งแรงงาน พลังงานไฟฟ้า และพื้นที่ โดยเฉพาะหากสามารถเพิ่มแรงจูงใจด้านภาษี ประเทศไทยสามารถเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักลงทุน และเสนอต่อว่า ไทยควรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เป็นระบบที่เอื้อต่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น การลดภาษีนำเข้าหรือการขจัดอุปสรรคทางการค้า

สำหรับแนวโน้มการลดกระบวนการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ฯ (De-Dollarization) ของกลุ่มประเทศ BRICS+ อดีตนายกฯ คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจมีระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ขึ้นอยู่กับสกุลเงินดอลลาร์ฯ หรือระบบ SWIFT เช่น การใช้เงินสกุลดิจิทัล หรือกลไกทางการเงินที่ออกแบบร่วมกันแทน

อดีตนายกฯ ยังกล่าวถึงบทบาทของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ APEC และ ASEAN ว่า ควรมีการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรลุข้อตกลงและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนประเทศขนาดเล็กและเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยกล่าวไว้ว่า “หากเวทีเหล่านี้ยังไม่สามารถหากลยุทธ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้ การประชุมจะไม่เกิดผลใดๆ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก”

ท้ายที่สุด อดีตนายกฯ เน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ในอีก 10 ปีของไทย โดยวางเป้าหมาย 2 ด้านหลัก ได้แก่

  1. Soft Power สนับสนุนการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้
  2. การก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในภูมิภาค ด้วยการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรม AI และ Semiconductor รวมถึงการสร้างระบบ Digital Hub ที่มีศูนย์ข้อมูลเชื่อมต่อกับทุกประเทศ

นอกเหนือจากนี้ ในการประชุมได้สัมภาษณ์ 1-on-1 ระหว่างนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และ Moira Forbes รองประธานบริหารของ Forbes Media โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังต่อไปนี้:

  • นายกฯ แพทองธาร กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้เติบโตตามที่คาดหวัง ทำให้การดึงดูดการลงทุนใหม่เข้ามาในประเทศกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินนโยบายสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายมิติ
  • นายกฯ เน้นย้ำถึงจุดแข็งของประเทศไทย เช่น ตำแหน่งยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศักยภาพด้านการเกษตรที่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร และความสงบและเป็นกลางในเวทีโลก ซึ่งช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค รัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น Data Center และ Semiconductor โดยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น AWS, Microsoft และ Google ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะช่วยสร้างงานและพัฒนาทักษะแรงงานไทย
  • ในด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลเดินหน้านโยบาย “Soft Power” เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับวัฒนธรรมไทยในระดับสากล เช่น การจัดเทศกาลสงกรานต์ตลอดทั้งเดือน เม.ย. เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 36 ล้านคนในปี 2024 และกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2025 นอกจากนี้ การสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น ภาพยนตร์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ต่างประเทศถ่ายทำในเมืองไทยกว่า 450 เรื่อง ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทย
  • รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งคิดเป็น 75% ของธุรกิจในประเทศ ผ่านมาตรการซอฟต์โลนและการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เช่น การพักชำระดอกเบี้ยนาน 3 ปี และการแจกเงินช่วยเหลือเฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
  • ด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ไทยยังคงยืนยันจุดยืนความเป็นกลาง และสนับสนุนการค้าเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน แม้จะมีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ไทยก็พร้อมปรับตัวและเตรียมมาตรการรองรับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
  • นายกฯ แสดงความคาดหวังในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า ประเทศไทยจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาทักษะสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ และเพิ่มความสามารถด้านภาษาที่ 2 ให้แก่คนไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เธอยังเน้นถึงความสำคัญของเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด

โดยสรุป :

ทั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ และนายกฯ แพทองธาร เห็นตรงกันเรื่องการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น Data Center และ Semiconductor การใช้ Soft Power เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้ง 2 คน ยังมองว่า ไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค หากพัฒนาทรัพยากรและแรงจูงใจที่เหมาะสม พร้อมตั้งเป้าหมายระยะยาวในการยกระดับเศรษฐกิจและทักษะแรงงาน