กองทุน CIF ของธนาคารโลก เตรียมออกบอนด์ 500 ล้านดอลล์ ระดมทุนรับมือสภาพภูมิอากาศ

กองทุน CIF ของธนาคารโลก เตรียมออกบอนด์ 500 ล้านดอลล์ ระดมทุนรับมือสภาพภูมิอากาศ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า กองทุน Climate Investment Funds (CIF) ของธนาคารโลก เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดเป็นครั้งแรก ผ่านการออกบอนด์มูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสนับสนุนการลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า หลังรัฐบาลหลายประเทศไม่จัดสรรงบสนับสนุนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวมีมูลค่าราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะใช้วิธีการรวบรวมเงินทุนจากประเทศร่ำรวยเพื่อจัดสรรให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่เงินสนับสนุนที่จำเป็นต้องใช้ยังไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล

ด้าน Tariye Gbadegesin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกองทุน ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า “เป็นการดีกว่าที่จะต่อยอดจากฐานเงินทุนที่เรามีและทำให้งอกเงยขึ้นมาอีกหลายเท่า”

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ครั้งที่ 29 คณะผู้เจรจาจากเกือบ 200 ประเทศ มีมติเห็นชอบในการกำหนดเป้าหมายทางการเงินประจำปีที่ต้องใช้ อย่างน้อยๆ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2035 ซึ่งต่ำกว่าที่ประเทศกำลังพัฒนาคาดหวังว่าจะได้รับเป็นอย่างมาก โดย Gbadegesin กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องยาก ทุกคนรู้ว่าเราต้องทำอะไรมากกว่านี้ แต่เรามีงบน้อยลง คำถามตามมาก็คือ เราจะทำมากกว่านี้ด้วยเงินที่น้อยลงได้อย่างไร

จากเหตุผลดังกล่าว การเปลี่ยนโครงสร้างในการจัดหาเงินทุนโดยมุ่งสู่ตลาดทุน จึงมีความสำคัญและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ Capital Markets Mechanism ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ในการออกพันธบัตรสำหรับกองทุน CIF ได้รับการจัดอันดับจาก Moody’s Ratings อยู่ที่ Aa1 โดย Moody’s คาดว่า เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยรักษาสถานะของเงินทุนให้แข็งแกร่ง และช่วยให้การดำรงสภาพคล่องของกองทุน (Liquidity buffer) อยู่ในระดับที่สูง ในระหว่างการขยายงบดุลและเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน

Abyd Karmali กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของ Bank of America ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดการหลักของกองทุน กล่าวว่า “ข้อได้เปรียบของ CIF คือ สามารถดำเนินการได้ทันทีและรวดเร็วกว่า  และยังเป็นช่องทางในการนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในเรื่องที่สำคัญได้คล่องตัวขึ้น”

Gbadegesin ยังกล่าวว่า นักลงทุนภาคเอกชนได้แสดงความสนใจมาแล้วในเบื้องต้น โดยผู้จัดการสินทรัพย์รายหนึ่งกล่าวกับบลูมเบิร์กว่า ยิ่งขั้นตอนง่ายเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรวมเข้าในแผนเสนอลงทุน และจะดึงดูดความต้องการเข้าลงทุนได้มากขึ้น

สำหรับเงินในกองทุน CIF ที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศร่ำรวย อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐบาลจากหลายประเทศที่สนับสนุนกองทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Clean Technology Fund) มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำหน้าที่ออกเงินกู้ที่มีระยะเวลาสูงสุด 40 ปี โดยเงินที่ปล่อยกู้ดังกล่าวจะนำกลับไปสนับสนุนการออกพันธบัตรเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศภายใต้กองทุน CIF สำหรับลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ที่มา: บลูมเบิร์ก