กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ (7:0) เห็นควรให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ (7:0) เห็นควรให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%

โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM

Event คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ (7:0) เห็นควรให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ด้วยการลดดอกเบี้ยลง 25  bps ในการประชุมครั้งก่อนเดือนต.ค. ในครั้งนี้ กนง. มองว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเป้าหมายเงินเฟ้อ

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของ GDP ที่เร่งตัวขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคที่เคยต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางเกือบตลอดทั้งปีนี้ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ 0.95% ในเดือนพ.ย. ใกล้เคียงกับขอบล่างของช่วงเป้าหมายที่ 1-3% ขณะที่ เศรษฐกิจเติบโต 3% YoY ในไตรมาส 3/2024 ซึ่งเป็นการเติบโตต่อปีที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2022 โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุน

ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.7% ในปี 2024 และ 2.9% ในปี 2025 เท่ากับประมาณการเมื่อเดือน ต.ค. โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังเผชิญแรงกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง นอกจากนี้ กลุ่มยานยนต์มีพัฒนาการที่แย่ลงจากทั้งปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง

ในระยะข้างหน้า แนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าและการลงทุนของไทยในอนาคต

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2024 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% และในปี 2025 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1% โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหาร โดยคาดว่าในปี 2024 จะอยู่ที่ 0.6% และในปี 2025 จะอยู่ที่ 1.0%

รายการ           
(% ยกเว้นระบุเป็นอย่างอื่น)
25662567
(as of ธ.ค.)
2567
(as of ต.ค.)
2568
(as of ธ.ค.)
2568
(as of ต.ค.)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ1.92.72.72.92.9
อุปสงค์ในประเทศ3.52.82.42.42.7
การบริโภคภาคเอกชน7.14.54.22.42.5
การลงทุนภาคเอกชน3.2-2.2-2.82.22.9
การอุปโภคภาครัฐ-4.62.121.52.6
การลงทุนภาครัฐ-4.62.91.15.14.5
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ2.17.14.83.52.8
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ-2.36.34.41.81.4
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)7.49101516
มูลค่าการส่งออกสินค้า (%YoY)-1.54.92.82.72
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (%YoY)-3.86.45.11.70.4
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (ล้านคน)28.2363639.539.5
ราคาน้ำมันดูไบ (ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล)8280807780
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป1.20.40.51.11.2
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน1.30.60.510.9

ที่มา: ธปท.

ในครั้งนี้ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม จึงต้องจับตาการประชุม FOMC ครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 17-18 ธ.ค. ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หาก FOMC ตัดสินใจลดดอกเบี้ย (ตามที่ตลาดคาด) อาจส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Differentials) ระหว่างสหรัฐฯ และไทยแคบลง ซึ่งอาจจะมีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงิน USD/THB