By…ชัชวาล สิมะธัมนันท์
Portfolio Management
เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในยุคนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี AI เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของผู้คนปัจจุบัน และเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจสูงมากจากผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่เริ่มตื่นตัวกับการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยเห็นได้จากรายงานล่าสุดของ Narrative Science ที่ประเมินว่าแนวโน้มการลงทุนในเทคโนโลยี AI เพื่อนำมาใช้ในองค์กร จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 68% ภายในปี 2018 จาก 38% ในปี 2016 ขณะที่รายงานที่จัดทำโดย Forbes ระบุว่าองค์กรที่ใช้ AI ในการทำงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 39% และลดต้นทุนลงได้ถึง 37%
ทั้งนี้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ นับเป็นสาขาหนึ่งในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ ด้วยการสร้างความฉลาดเทียมให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้จากภาพยนตร์ Sci-fi ที่ได้รับความนิยมหลายต่อหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น Terminator หรือ iRobot ที่มีหุ่นยนต์ที่สมารถคิด และเรียนรู้ได้เอง รวมถึงเรื่อง Her ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นเพื่อนคุยที่รู้ใจทุกอย่าง และมีพฤติกรรมเหมือนกับมนุษย์
AI เป็นเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในหลายๆ ด้าน โดย AI มีความสามารถที่สำคัญ คือการเรียนรู้และจดจำข้อมูลที่มีปริมาณมากๆ สามารถแยกแยะรวมถึงวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งภาคธุรกิจเล็งเห็นถึงประโยชน์ของ AI และนำไปปรับใช้ในแง่มุมต่างๆ ตัวอย่างเช่น ด้านระบบรักษาความปลอดภัย มีการประยุกต์การตรวจจับใบหน้าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Face recognition) เช่นกล้องวงจรปิดในสถานที่สำคัญ อย่างสนามบิน สามารถตรวจจับใบหน้าของคนร้ายที่เคยมีประวัติได้อย่างอัตโนมัติทันทีที่คนร้ายเดินเข้ามาในสถานที่นั้นๆ
ด้านการแพทย์ มีการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดอวัยวะในส่วนที่มือคนไม่สามารถเข้าถึงได้ ล่าสุด IBM ได้พัฒนาระบบ IBM Watson ซึ่งเป็นระบบที่สามารถอ่านบทความวิจัยวิทยาศาสตร์ได้มากถึง 1 ล้านฉบับต่อปี เทียบกับนักวิจัยที่เป็นมนุษย์ที่อ่านได้เพียง 200 – 300 ฉบับต่อปี แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทย โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ได้เริ่มนำมาใช้บ้างแล้ว
ด้านการตลาด และการเงินการลงทุน AI ถูกพัฒนาให้สามารถวิเคราะห์และเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือบริการได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Facebook หากเราไปติดตามคอนเทนต์ประเภทใดบ่อย ๆ Facebook ก็จะแนะนำเพจที่คล้ายกันขึ้นมา ตามความสนใจของเรา หรือโปรแกรม Chatbot เป็น AI ที่สามารถโต้ตอบบทสนทนากับลูกค้าได้ เป็นต้น
ด้านการขนส่งสาธารณะ ระบบ AI ถูกพัฒนาเสมือนเป็นผู้ช่วยในการขับขี่ให้กับมนุษย์ โดยการวิเคราะห์เส้นทาง และหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และสามารถพัฒนาไปถึงรถอัจฉริยะที่ไร้คนขับได้อีกด้วย
ที่กล่าวมาอาจจะยังไม่ครอบคลุมความสามารถของเทคโนโลยี AI ได้ทั้งหมด แต่ก็เห็นได้ว่า AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแถมช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น และบริษัทส่วนใหญ่ก็เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาเป็นส่วนประกอบในการดำเนินธุรกิจ ช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
แม้ว่าเทคโนโลยี AI จะสร้างประโยชน์ให้กับเรามากมาย ในทางกลับกันผู้เชี่ยวชาญสายงานต่างๆก็ยังคงกังวลถึงอันตราย หรือผลเสียที่ตามมาจากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ โดย Elon Musk นักธุรกิจระดับโลก ได้พูดถึง AI ว่า อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ และน่ากลัวกว่าอาวุธนิวเคลียร์ ด้าน Stephen Hawking นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงด้านฟิสิกส์ และจักรวาลวิทยา ออกมาเตือนว่าความก้าวหน้าของ AI อาจนำไปสู่จุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์ หรือแม้กระทั้งความคิดที่ว่า AI อาจถูกพัฒนาไปใช้ในทางที่ผิด โดยใช้เป็นเครื่องมือในการก่อการร้าย เช่น เปลี่ยนโดรนส่งของเป็นโดรนติดอาวุธเพื่อโจมตี หรือใช้ AI บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อปล่อยข้อมูลที่สร้างความเข้าใจแบบผิดๆ และเป็นอันตรายต่อมวลชน AI รวมถึงอาจจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในอนาคต ทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้นก็เป็นได้
แม้จะมีข้อน่ากังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI มากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า AI ก็มีประโยชน์มหาศาลเช่นเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจหลักการทำงาน และเตรียมความพร้อมป้องกันสำหรับความเสี่ยง หรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เทคโนโลยี AI ก็กลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโลกของเราได้ ดังคำกล่าวของ วิลเลียม เชคสเปียร์ที่ว่า “ไม่มีสิ่งใด ๆ ในโลกที่ดีหรือเลว มีแต่ความคิดของเราเท่านั้นที่ทำให้เกิดความดีและความเลว”