Fund Comment มกราคม 2025: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มกราคม 2025: มุมมองตลาดตราสารหนี้

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ในเดือนม.ค. คือ การประชุมของธนาคารกลางหลักๆ ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอังกฤษ รวมทั้งนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม โดยสิ่งที่ตลาดจับตามองมากที่สุด คือ นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างผันผวนในเดือนนี้ โดยในช่วงต้นเดือนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการที่ตลาดมีความกังวนจากนโยบายเกี่ยวกับการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อลดลงได้ช้าลงกว่าที่คาดไว้ แต่หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคม ออกมาส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้นถึงพัฒนาการของเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงกลับสู่เป้าหมายของ Fed ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับลดลง และในวันที่ 29 มกราคม คณะกรรมการ FOMC ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 4.25-4.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระบุว่า คณะกรรมการ FOMC ต้องการเห็นการชะลอลงขอเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ หรือการอ่อนตัวลงของตลาดแรงงาน ก่อนจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งถัดไป ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed อาจจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้เพียง 1-2 ครั้งในปีนี้

ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุคงเหลือระยะสั้นและยาว ในช่วง 0 bps ถึง
12 bps โดยเฉพาะช่วงระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 bps ขณะที่ กลุ่มอายุคงเหลือมากว่า 1 ปีที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยในเดือนนี้ มีความผันผวนไปในทิศทางเดียวกันกับพันธบัตรสหรัฐ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบกับตลาดพันธบัตรไทย ได้แก่ ผลการประมูลพันธบัตรอายุ 10 ปี ที่ผู้เข้าร่วมประมูลให้ความสนใจค่อนข้างมากทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง และในเดือนนี้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนธ.ค. ขยายตัวที่ 1.23%YoY จาก 0.95%YoY ในเดือนก่อนหน้า โดยเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี เงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 0.40% แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1%-3% สำหรับในระยะต่อไปยังคงคาดว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยจะยังคงมีความผันผวนตามทิศทางของตลาดตราสารหนี้สหรัฐ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ที่อาจจะช้ากว่าที่คาดไว้ และยังอาจเผชิญกับความผันผวนตามทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่