สหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงอีกฉบับกับยูเครน-รัสเซีย เพื่อระงับการโจมตีทางทะเลและเป้าหมายด้านพลังงาน พร้อมให้คำมั่นผลักดันให้เกิดการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนต่อรัสเซีย ซึ่งข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างประเทศคู่สงคราม นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ ยังให้คำมั่นที่จะช่วยผลักดันไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและปุ๋ยของรัสเซีย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหลักของรัสเซียมาโดยตลอด ด้านรัสเซีย แถลงว่า ข้อตกลงเรื่องทะเลดำจะไม่มีผลบังคับใช้ เว้นแต่จะมีการเปิดทางให้ธนาคารรัสเซียบางแห่ง กลับมาเชื่อมโยงกับระบบการเงินระหว่างประเทศได้
ขณะที่ ประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน กล่าวว่า สิ่งที่ตนเองเข้าใจนั้น ข้อตกลงหยุดยิงไม่จำเป็นต้องมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรเพื่อให้มีผลบังคับใช้ และควรจะมีผลโดยทันที โดยเขาเรียกแถลงการณ์ของรัสเซียว่าเป็นความพยายามที่จะบิดเบือนข้อตกลง โดยกล่าวว่า “พวกเขาพยายามบิดเบือนข้อตกลงและหลอกลวง ทั้งคนกลางและทั่วโลก”
ทั้งยูเครนและรัสเซีย ต่างระบุว่า จะพึ่งพาสหรัฐฯ ในการบังคับใช้ข้อตกลงนี้ แต่ก็แสดงความสงสัยว่า ฝ่ายตรงข้ามจะทำตามข้อตกลงหรือไม่ โดยนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ รัสเซีย กล่าวว่า “เราต้องการการรับประกันที่ชัดเจน จากประสบการณ์อันเลวร้ายของการทำข้อตกลงกับยูเครนเพียงฝ่ายเดียว การรับประกันใดๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ สั่งเซเลนสกีและทีมของเขาให้ทำสิ่งหนึ่งและไม่ทำอีกสิ่งหนึ่งเท่านั้น”
เซเลนสกี กล่าวว่า หากรัสเซียละเมิดข้อตกลง เขาจะขอให้โดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียและจัดหาอาวุธเพิ่มเติมให้ยูเครน “เราไม่เชื่อใจรัสเซีย แต่เราจะพยายามดำเนินการไปในทางที่สร้างสรรค์”
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการประกาศ ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างกล่าวหากันว่า ต่างฝ่ายต่างใช้โดรนโจมตี แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายต่อเป้าหมายในทะเลดำ หรือโครงสร้างพลังงาน โดยข้อตกลงนี้ เกิดขึ้นหลังการเจรจาคู่ขนานในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตามมาหลังการโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วระหว่าง ทรัมป์ กับผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ หากข้อตกลงครั้งนี้นำไปปฏิบัติจริง อาจเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกสู่เป้าหมายของทรัมป์ในการสร้าง “ข้อตกลงหยุดยิงที่ครอบคลุมมากขึ้น” ในสงครามที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อ 3 ปีก่อน
ที่มา: รอยเตอร์