Fund Comment เมษายน 2025: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment เมษายน 2025: มุมมองตลาดตราสารหนี้

เดือนเมษายน ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนจากมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 2 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 5 เม.ย. 2568 แม้ทุกประเทศรู้อยู่แล้วว่า จะมีเรื่องนี้เกิดขึ้น แต่อัตราภาษีที่ประกาศออกมาสูงกว่าที่ประเมินไว้มาก และถึงแม้จะเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน (นับจากวันที่ 9 เม.ย. 2568) แต่ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดในช่วงดังกล่าว การตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า นโยบายที่ไม่แน่นอนของสหรัฐฯ เอง ความกังวลต่อผลพวงจากนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ความคืบหน้าในการเจรจา ล้วนแต่เป็นประเด็นที่ต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระหว่างเดือนผันผวนอย่างมีนัย นโยบายภาษีสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นที่ตลาดมีต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้เกิดการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยวันที่ 11 เม.ย. 2568 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี พุ่งสูงขึ้นกว่า 20 bps เมื่อเทียบสิ้นเดือนก่อน ไปอยู่ที่ 4.49% อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น แม้ความผันผวนยังคงอยู่แต่ตลาดปรับตัวดีขึ้น สะท้อนความคาดหวังว่า การเจรจาการค้าจะคืบหน้าและนโยบายภาษีจะไม่รุนแรงอย่างที่กลัว โดยสิ้นเดือน เม.ย. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี ปรับตัวขึ้น 0.07% 0.19% 0.25% และ 0.32% เมื่อเทียบสิ้นเดือนก่อน มาอยู่ที่ 3.96% 3.81% 4.25% และ 4.75% ตามลำดับ ในขณะที่ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวล แสดงความกังวลว่า นโยบายภาษีอาจทำให้เฟดประสบปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2568 พบว่า หดตัว 0.3% หลังจากขยายตัว 2.4% ในไตรมาส 4/2567 สร้างความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย เทียบสิ้นเดือนก่อน ปรับลดลงในทุกช่วงอายุราว 5-20 bps เป็นการปรับลงตามความคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. 68 ซึ่งเมื่อถึงวันประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ตามที่ตลาดคาด กนง.ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น จากนโยบายการค้าโลกและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากราคาน้ำมันโลกและมาตรการภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัว มองนโยบายกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลกอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนที่สูง คณะกรรมการจึงปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยง

สำหรับในระยะต่อไป ความผันผวนในตลาดตราสารการเงินยังคงอยู่ ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความคืบหน้าในการเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐฯ มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โอกาสเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีกในปีนี้ยังมีอยู่