อาเซียนเตรียมจัดประชุมสุดยอดร่วมจีน – ชาติอาหรับครั้งแรก มุ่งหาจุดยืนร่วมท่ามกลางโลกแบ่งขั้ว

อาเซียนเตรียมจัดประชุมสุดยอดร่วมจีน – ชาติอาหรับครั้งแรก มุ่งหาจุดยืนร่วมท่ามกลางโลกแบ่งขั้ว

บรรดาผู้นำชาติอาเซียนเตรียมร่วมการประชุมสุดยอด ที่จะจัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 26- 27 พ.ค. นี้ โดยจะประชุมไตรภาคีร่วมกับจีนและกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของการทูตอาเซียน ท่ามกลางการกีดกันทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ในปีนี้ กล่าวว่า “ทั้งสามฝ่ายไม่ได้มีประเด็นเรื่องการสร้างอำนาจ ผมอยากใช้โอกาสนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายมาร่วมสร้างฉันทามติและทำงานร่วมกัน” ด้านหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และผู้นำทั้ง 6 ประเทศสมาชิก GCC จะเข้าร่วมการประชุมไตรภาคีในวันอังคาร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของชาติอาเซียน ที่ต้องการกระชับความร่วมมือด้านการค้า พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ทั้งนี้ ก่อนถึงการประชุมสุดยอดในวันจันทร์ จะมีการเจรจาระดับรัฐมนตรีในประเด็นเมียนมาในวันเสาร์ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันอาทิตย์

นักวิเคราะห์ ระบุว่า การรวมตัวในครั้งนี้ สะท้อนถึงความต้องการของชาติอาเซียนที่จะขยายขอบเขตความเคลื่อนไหวของตนเองท่ามกลางการปรับขั้วอำนาจของโลก โดยไม่จำกัดเพียงแค่การถ่วงดุลระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเท่านั้น โดยไอรา อัซฮารี นักวิจัยจากสถาบัน Institute for Democracy and Economic Affairs (IDEAS) ในมาเลเซีย กล่าวว่า “นี่เป็นสัญญาณถึงเจตจำนงของอาเซียน ที่จะรักษาความยืดหยุ่นภายใต้ระเบียบโลกที่แบ่งแยกมากขึ้น แทนที่จะผูกตัวเองเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ด้านอดิบ ซัลกัปลี กรรมการผู้จัดการของ Viewfinder Global Affairs ระบุว่า อาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายคล้ายกับช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้ง อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่า สถานการณ์ในช่วงสงครามเย็นยังง่ายกว่า เพราะเส้นแบ่งทางอุดมการณ์ชัดเจน

“สมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน เลือกเข้าข้างโลกตะวันตกเพื่อความอยู่รอด แต่ปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน” พร้อมเสริมว่า “แม้จะซับซ้อนขึ้น แต่ความท้าทายก็ยังคล้ายเดิม เพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน อาเซียนต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย”

ทั้งนี้ แม้สมาชิกอาเซียนจะเจรจากับสหรัฐฯ แบบทวิภาคี เพื่อพยายามลดภาษี “ตอบโต้” ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนจะบังคับใช้กับทุกประเทศ แต่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นของ “นโยบายที่ปฏิบัติได้จริง” และแนวทางความร่วมมือที่เป็นกลุ่มก้อนในอาเซียน ซึ่งแม้ว่า การเจรจากับสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไป แต่เราก็เห็นพ้องกันว่า จะต้องมีจุดยืนร่วมของอาเซียนเสมอ

ที่มา Nikkei Asia, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย