G7 ให้คำมั่นลดความไม่สมดุลในเศรษฐกิจโลก เลี่ยงประเด็นภาษีทรัมป์ – เล็งเพิ่มคว่ำบาตรรัสเซีย

G7 ให้คำมั่นลดความไม่สมดุลในเศรษฐกิจโลก เลี่ยงประเด็นภาษีทรัมป์ – เล็งเพิ่มคว่ำบาตรรัสเซีย

รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มประเทศ G7 ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยให้คำมั่นที่จะแก้ไข “ความไม่สมดุลที่เกินควร” ในเศรษฐกิจโลก และเปิดทางเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ ยังไม่แน่ชัดว่า จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมจากที่ประชุมหรือไม่ เนื่องจากความคิดเห็นต่างเกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการใช้คำว่า “ผิดกฎหมาย” ในการอ้างถึงสงครามของรัสเซียในยูเครน

หลังการหารือยาวนานถึง 3 วัน ทุกฝ่ายได้ลงนามในเอกสาร โดยไม่มีการพูดถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างแต่ก่อน และใช้ถ้อยคำที่เบาลงเกี่ยวกับสงครามในยูเครน โดยฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ชองปาญ รัฐมนตรีคลังของแคนาดา กล่าวในการแถลงข่าวปิดประชุมว่า “พวกเราหาข้อตกลงร่วมกันได้ในประเด็นสำคัญระดับโลกที่เรากำลังเผชิญ” พร้อมเสริมว่า “ผมคิดว่านี่คือ สัญญาณที่ชัดเจนมากต่อโลกว่า G7 มีความเป็นหนึ่งเดียว ทั้งในเจตนารมณ์และการกระทำ”

รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ระบุว่า จำเป็นต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่า “นโยบายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด” กำลังบ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แม้เอกสาร จะไม่ได้ระบุถึงจีนโดยตรง แต่การกล่าวถึงนโยบายดังกล่าว มักหมายถึงการอุดหนุนโดยรัฐบาลและรูปแบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกของจีน

ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ของ G7 ยังไม่พูดถึงภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศบังคับใช้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าโลก ห่วงโซ่อุปทาน และสร้างความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยชองปาญ กล่าวว่า การที่แถลงการณ์ไม่พูดถึงภาษีศุลกากรนั้น ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงประเด็น และบอกว่า รัฐมนตรีได้หารือถึงผลกระทบของภาษีเหล่านี้แล้ว โดยแคนาดากำลังเจรจาเพื่อล้มเลิกภาษี 25% ที่ทรัมป์สั่งเก็บจากสินค้าหลายรายการ เช่น เหล็กและอะลูมิเนียม “เรากำลังพยายามส่งเสริมการเติบโตและเสถียรภาพ และแน่นอนว่า ภาษีศุลกากรเป็นประเด็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการหารือเหล่านี้”

การประชุมรัฐมนตรีคลัง G7 ครั้งนี้ เป็นการปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ระหว่างวันที่ 15–17 มิ.ย. ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ G7 ยังเรียกร้องให้มีการวิเคราะห์เรื่องความเข้มข้นของตลาด และความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ รวมไปถึงการขนส่งพัสดุมูลค่าต่ำที่ได้รับการยกเว้นภาษี (de minimis) ข้ามพรมแดน ซึ่งทำให้ระบบศุลกากรและการจัดเก็บภาษีตึงตัว และอาจถูกใช้ในการลักลอบยาเสพติดหรือสินค้าผิดกฎหมายอื่น ๆ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลัง G7 ยังกล่าวประณามสงครามของรัสเซียในยูเครนว่าเป็น “สงครามที่โหดร้ายอย่างต่อเนื่อง” และกล่าวว่าหากความพยายามในการหยุดยิงล้มเหลว พวกเขาจะพิจารณาทางเลือกทั้งหมด รวมถึง “การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร”

ที่มา Reuters, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย