กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเกินคาด เป็น 548,000 บาร์เรลต่อวัน ในการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลในเดือนส.ค.นี้
กลุ่มประเทศพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน 8 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตรายใหญ่ อย่าง รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย รวมถึงแอลจีเรีย อิรัก คาซัคสถาน คูเวต โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมติดังกล่าวในการประชุมออนไลน์ ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 411,000 บาร์เรลต่อวัน
นอกเหนือจากนโยบายอย่างเป็นทางการของกลุ่ม OPEC+ กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งแปดประเทศ ยังคงอยู่ในช่วงทยอยยกเลิกแผนการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก จะเป็นการทยอยยกเลิกการลดกำลังการผลิตรวมกันที่ 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะยังคงมีผลไปจนถึงสิ้นปีหน้า และส่วนที่สอง เป็นการทยอยยกเลิกแผนลดกำลังการผลิต รอบล่าสุดที่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะเร่งเพิ่มกำลังการผลิตต่อเนื่องในเดือนพ.ค., มิ.ย. และก.ค.
การกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต จะทำให้กลุ่ม OPEC+ สามารถคืนกำลังการผลิตที่เคยหยุดไป 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ภายในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งเร็วกว่าที่วางแผนไว้เดิม โดยการที่ราคาน้ำมันลดลงในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นชัยชนะสำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งมองว่า ราคาน้ำมันที่ต่ำลง จะช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ทะเลเหนือล่วงหน้า อยู่ที่ประมาณ 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ลดลง 13% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความขัดแย้งในการสู้รบระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ได้คลี่คลายลง โดยการส่งออกพลังงานในภูมิภาคตะวันออกกลางส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ
แฮร์รี ชิลิงกิเรียน หัวหน้าฝ่ายวิจัยกลุ่มของ Onyx Capital Group กล่าวว่า “เมื่อ OPEC+ ได้เปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์การรักษาส่วนแบ่งตลาดแทนการรักษาระดับราคา ก็อาจไม่มีประโยชน์ที่จะรักษาระดับการลดกำลังการผลิตตามที่ตกลงกันไว้”
นับตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา OPEC และพันธมิตร ได้เปลี่ยนจากการจำกัดการผลิตเป็นเวลาหลายปี มาเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ค้าและตั้งคำถามเกี่ยวกับกลยุทธ์ระยะยาวของกลุ่ม โดยทางกลุ่มได้อ้างถึงแรงจูงใจหลายประการในการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ ได้แก่ การรองรับความต้องการเชื้อเพลิงสูงสุดในช่วงฤดูร้อน การจำกัดการผลิตเกินของสมาชิกบางราย และการทวงคืนส่วนแบ่งตลาด จากคู่แข่งอย่างผู้ผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ
การเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันครั้งนี้ อาจได้รับการแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งต้องการผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และควบคุมภาวะเงินเฟ้อ พร้อมทั้งกดดันธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำลังการผลิต มีความเสี่ยงที่จะทำให้ปริมาณน้ำมันส่วนเกินที่มีอยู่แล้วเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจผลักดันราคาไปสู่ระดับที่อาจสร้างความตึงเครียดทางการเงินให้กับผู้ผลิตได้
ทั้งนี้ สต็อกน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของจีนที่ลดลง และการผลิตเพิ่มขึ้นทั่วทั้งทวีปอเมริกา ตั้งแต่สหรัฐฯ และกายอานา ไปจนถึงแคนาดาและบราซิล
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำมันส่วนเกินในตลาดจำนวนมากในช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้บริษัทในวอลล์สตรีท รวมถึง JPMorgan และ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจลดลงแตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่านั้น ภายในไตรมาส 4 ปีนี้