อัพเดทเศรษฐกิจอาเซียนเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2018

อัพเดทเศรษฐกิจอาเซียนเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2018

BF Economic Research

Monthly Economic Review June-July 2018

ASEAN THIS MONTH

     • ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 4.50% เป็น 4.75% ในการประชุมวันที่ 30 พ.ค. โดยเป็นการประชุมนอกรอบ หลังผู้ว่าการคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 24 พ.ค. ซึ่งก่อนหน้านี้ BI ภายใต้ผู้ว่าการคนก่อนหน้าได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปแล้ว 1 ครั้งจาก 4.25% เป็น 4.5% ในวันที่ 17 พ.ค. เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของผู้ว่าการคนปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียห์เป็นหลัก ทั้งนี้ เราคาดว่า BI จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งจนถึงสิ้นปีนี้ ถ้าหากค่าเงินรูเปียห์ไม่ได้อ่อนค่าลงไปอีกมาก โดย BI น่าจะหันมาใช้การผ่อนคลาย Macro-Prudential Measures อย่างเช่นการปรับ Loan-To-Value ratio (LTV Ratio) เพื่อกระตุ้นสินเชื่อในประเทศ

     • การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน (NODX) ของสิงคโปร์เดือนพ.ค. ขยายตัวเร่งขึ้นที่ +15.5% YoY จาก +11.8 % YoY ในเดือนเม.ย. โดยได้รับแรงหนุนของการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว +26.2% YoY นำโดยเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง อาหารปรุงแต่ง (Food Preparations) (+132.7%) และเวชภัณฑ์ (+32.1%) ขณะที่ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลง -7.8% YoY เนื่องจากฐานที่สูงของปีก่อนหน้า โดยตลาดส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันของสิงคโปร์ที่สำคัญของสิงคโปร์ ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยยอดส่งออกสินค้าไปยังทั้ง 3 ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ +97.5% YoY, +54.0% YoY และ +14.8% YoY ตามลำดับ

     • อัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ในเดือนพ.ค. 2018 ขยายตัว +4.6% YoY ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ +4.5% YoY โดยหลุดกรอบเป้าหมายของธนาคารกลาง (BSP) ที่ 2.0-4.0% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แม้ว่า BSP จะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 basis point เป็น 3.25% เมื่อ วันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม โดยราคาเนื้อปลา อาหารทะเล พลังงาน ขนมปัง และแป้งสาลี เป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ +4.9% YoY เนื่องจากรัฐบาลได้สนับสนุนให้โรงสีข้าวจำหน่ายข้าวในราคาถูกลง 10% จากเดือนเม.ย. อีกทั้ง ทางการฟิลิปปินส์ยังมีการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าปลีกอย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้ออีกด้วย

• ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) เปิดเผยว่า ปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง -0.641 พันล้านดอลลาร์ฯ สู่ระดับพันล้านดอลลาร์ฯ สู่ระดับ 7.897 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. จากระดับ 7.961 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. โดยเป็นการลดลงสู่ระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศดังกล่าว สามารถรองรับการนำเข้าได้ 7.7 เดือน

     • รัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียประกาศทบทวนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สาธารณะ เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้มีมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า MRT-3 ด้วยเหตุผลเดียวกัน ขณะที่ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายตะวันออก (East Coast Rail Link: ECRL) ที่เชื่อมต่อระหว่างพรมแดนไทยและมาเลเซียฝั่งตะวันออกกับช่องแคบมะละกาทางตะวันตก ก็กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อหาทางปรับแก้เงื่อนไขของโครงการ และลดงบประมาณลงบางส่วน จากเดิมที่คาดว่าจะใช้งบประมาณถึงราว  14,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในการก่อสร้าง โดยโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการไปแล้วในปีที่ผ่านมา

     • อัตราเงินเฟ้อเวียดนามในเดือนพ.ค. 2018 ขยายตัว +3.86% YoY (+0.55 % MoM) เพิ่มขึ้นจาก +2.75% YoY ในเดือนเม.ย. ทำให้ 5 เดือนแรกของปี 2018 อัตราเงินเฟ้อเวียดนามเติบโตเฉลี่ยที่ +3.01% YoY เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดขนส่ง และราคาสินค้าอาหารเป็นหลัก  โดยราคาหมวดขนส่งเพิ่มขึ้น +1.72% MoM จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น 2 ครั้งในเดือนพ.ค. (8 พ.ค. และ 23 พ.ค.) ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ ราคาสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น +0.88% MoM จากราคาหมูที่ปรับขึ้น 5.85%