โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่อยากรวยเร็วๆ รวมถึงต้องการที่จะเกษียณอายุการทำงานเร็วๆ คือต้องการเกษียณก่อนอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี โดยมีสาเหตุหลักคือ “ต้องการอิสรภาพในการใช้ชีวิต” เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยากเกษียณเร็วก็คือ “มนุษย์เงินเดือน” ที่แต่ละวันหมดเวลาไปกับการทำงานในออฟฟิศ ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ตามใจต้องการ เวลาเข้า-ออก ในการทำงานใกล้เคียงกัน ต้องใช้ชีวิตเบียดเสียด รีบเร่ง ทั้งรีบนอน รีบตื่น รีบกิน รีบออกจากบ้าน ฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนบั่นทอนกำลังใจ และทำให้มนุษย์เงินเดือนโหยหาอิสรภาพ จึงเป็นที่มาของความพยายามสร้างความมั่งคั่งคือ ทำให้ตัวเองรวยเร็วๆ เพราะเชื่อว่าการมีเงินจะสามารถไถ่อิสรภาพให้พ้นจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน
ความคิดเรื่องเกษียณอายุก่อนกำหนดจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะหากถามย้อนกลับไปยังทุกคนก็เชื่อว่า “ถ้าเลือกได้… เราก็อยากมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน” ทางออกสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไปจึงหนีไม่พ้นการสุ่มตัวเลขทุกๆ 15 วัน เผื่อว่าฝันนั้นจะเป็นจริง แต่จนแล้วจนเล่าก็ได้แต่ฝัน ทั้งนี้ อย่าลืมว่าการเกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นสิ่งที่เราเลือกเองได้ว่าจะให้เกิดขึ้นตอนไหน? การวางแผนทางการเงินจึงเป็นทางเลือกที่ดี โดยข้อแนะนำเพื่อการเกษียณอายุก่อนกำหนดมีดังนี้
กดเพื่อรับชมวิดีโอ
เกษียณก่อนได้ ไม่ต้องรอ 55
1) ต้องเริ่มต้นออมอย่างหนักหน่วง
ตามปกติแล้ว สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไปแนะนำให้ออมอย่างน้อย 10% ของเงินได้ในแต่ละเดือน แต่หากเราต้องการที่จะเกษียณอายุก่อนกำหนด อาจต้องเพิ่มการออมให้มากขึ้นอย่างน้อยๆ ก็ต้อง 20%
ขึ้นไป เพราะอย่าลืมว่าการเกษียณคือ ช่วงเวลาของการใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีรายได้จากเงินเดือนอีกต่อไป แต่รายจ่ายนั้นยังคงมีต่อไปตราบสิ้นอายุขัย นั่นหมายความว่า ยิ่งอยากเกษียณไวเท่าไหร่? ก็ต้องยิ่งออมให้มากขึ้น หรืออาจลองหารายได้อื่นเพิ่มเติมเพื่อเป็น Second source of income ในการสร้างรายได้เพิ่มเติมในช่วงที่เรายังมีแรงกำลัง รวมถึงพยายามสร้างรายได้จาก Passive income ให้มากที่สุด
2) อายุเรายืนมากกว่าที่คิด
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปมาก รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิต (Life Style) ของคนสมัยใหม่ก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น การคาดการณ์อายุขัยของตัวเองมีความสำคัญมากสำหรับการวางแผนทางการเงิน เพราะทำให้เราทราบว่า “เรามีระยะเวลาเท่าไหร่? ในการใช้เงินโดยที่ไม่มีรายได้” ซึ่งหากเรามีอายุที่ยืนยาวก็แน่นอนว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยปกติแล้วการคำนวณอายุขัยจะแนะนำ
ให้ดูว่าคนในครอบครัวที่มีเพศเดียวกับเราและอายุยืนมากที่สุด จากนั้นให้บวกไปอีกสิบปี เท่ากับอายุขัยเฉลี่ยของตัวเรา ดังนั้น เชื่อเถอะว่าเราจะมีอายุที่ยืนยาวมากกว่าที่เราคิด ดีไม่ดีอายุยืนถึง 100 ปีด้วยซ้ำไป
3) อย่าฝากความหวังไว้ที่ใคร
“ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” พุทธสุภาษิตที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี สามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณได้เช่นกัน เพราะเมื่อคิดที่จะเกษียณก่อนกำหนดก็ต้องมั่นใจว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ไม่ใช่หวังไว้เสมอว่า “น่าจะมีคนช่วยหากเราตัดสินใจผิด” เพราะสิ่งที่หวังอาจไม่ได้เป็นดังใจหวัง อย่างที่คุณใหม่ เจริญปุระ บอกไว้ว่า “อย่าฝากความหวังที่ฉันจนเกินไป เพราะฉันไม่ได้มีทุกอย่างที่ควรจะต้องรอ อย่าฝากความฝันให้ฉันคอยดูแล ถึงแม้ภายในใจจะรักเธอ หมดตัวและหัวใจ แต่คงไม่ดีเพียงพอ…” ที่ไม่ช่วย ไม่ใช่ว่าไม่รัก แต่เงินมีไม่พอเหมือนกัน ดังนั้น ท่องไว้เสมอว่าเมื่อตัดสินใจเกษียณแล้วอย่าทำตัวเราให้เป็นภาระจนถูกทอดทิ้ง
4) ค่ารักษาพยาบาลน่ากลัวที่สุด
ตอนที่ยังทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ส่วนใหญ่บริษัทจะมีสวัสดิการเรื่องค่ารักษาพยาบาลเอาไว้ให้ มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป ดังนั้น หากตัดสินใจเกษียณอายุก่อนกำหนด นั่นหมายความว่า เราได้จัดเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับรักษาพยาบาลเอาไว้แล้ว โดยเงินส่วนนี้แนะนำให้จัดสรรแยกต่างหากจากค่าใช้จ่ายทั่วไปสำหรับวัยเกษียณ ส่วนจะจัดสรรไว้มากน้อยเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของเราว่าอยากได้รับบริการแบบไหน? การประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายซึ่งอาจพิจารณาจากประวัติของคนในครอบครัว และการประเมินสุขภาพของตัวเอง โดยประมาณการค่ารักษาพยาบาลปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 20 – 25% ต่อปี
5) เงินก้อนรักษายาก
ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า “เงินก้อนรักษายาก” แม้ว่าจะมีเงินตามที่วางเป้าหมายเอาไว้แล้ว นั่นเป็นเพราะระหว่างทางเราอาจต้องเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย เช่น คนในครอบครัวมีเหตุต้องใช้เงินด่วน หรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ทางออกที่ดีสำหรับปัญหานี้ คือ จัดสรรเงินส่วนหนึ่งของเราให้ทำงานอยู่เสมอ ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม และพยายามสร้างรายได้จาก Passive income เพื่อให้เกิดรายรับเข้ามาอย่างสม่ำเสมอในช่วงเกษียณ
6) เตรียมเงินแล้ว อย่าลืมเตรียมใจ
ในช่วงแรกของชีวิตเกษียณเชื่อว่าส่วนใหญ่มีความสุขมากกกกก… ที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสรภาพ แต่เชื่อเถอะว่าหลังจากนั้นไม่นานก็จะไม่สดชื่นเหมือนเดิม จากการสอบถามผู้เกษียณส่วนใหญ่บอกว่า “รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า” สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการทำงานเป็นการอธิบายถึงการมีตัวตนของเรา เมื่อหยุดอธิบายตัวเองก็เป็นไปได้ว่าคนจะค่อยๆ ลืมเรา และการถูกลืมนี่เองที่ทำให้รู้สึกไร้ค่า ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ชุบชีวิตให้สดใสอีกครั้งคือ การทำงาน โดยอาจปรับเปลี่ยนมาทำฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของธุรกิจ เพื่อใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง รวมถึงยังเป็นการสร้างรายได้อีกด้วย
การวางเป้าหมายที่จะเกษียณก่อนอายุ 55 ปีหรือ 60 ปี เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะเป็นเรื่องดีอยู่แล้วที่เราจะสามารถมีอิสรภาพในการใช้ชีวิตได้ตามที่เราต้องการ เพียงแต่การที่จะทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริงได้ และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนั้น จำเป็นต้องวางแผนทางการเงินให้รอบคอบ และคิดให้รอบด้าน โดยหลักๆ แล้วคือ การบริหารจัดการเงินให้มีเพียงพอใช้ตลอดจนหมดอายุขัย และการมีเงินก้อนเพียงก้อนเดียวนั้นอาจดูเสี่ยงเกินไป สำหรับการใช้ชีวิตท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เราไม่อาจควบคุมได้ การสร้างรายได้จาก Passive income จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เรายังมีรายรับเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตดีๆ ในช่วงเกษียณ (แต่ยังไม่สูงวัย) ได้อย่างมีความสุขนั่นเอง