ASEAN THIS MONTH: อัพเดทเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน สิงหาคม-กันยายน 2018

ASEAN THIS MONTH: อัพเดทเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน สิงหาคม-กันยายน 2018

BF Monthly Economic Review Aug-Sep 2018

By…BF Economic Research

เหตุการณ์ในตุรกีป่วนตลาดเกิดใหม่

อินโดนีเซีย

  • ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 25 bps ในการประชุมวันที่ 15 ส.ค. จาก 5.25% เป็น 5.50% เพื่อพยุงรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง หลังเกิดวิกฤตค่าเงินตุรกี และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ของปี 2018 รวมทั้ง 4 ครั้ง BI ปรับขึ้นมาแล้ว 125 bps ส่งผลให้ BI นับเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากที่สุดในเอเชีย ด้านรัฐบาลได้ประกาศมาตรการลดการนำเข้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยการปรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้น 500 รายการ รวมทั้งเลื่อนโครงการก่อสร้างบางโครงการของรัฐวิสาหกิจออกไปเพื่อลดการนำเข้าสินค้าทุน

สิงคโปร์

  • GDP (Final Estimate) ของสิงคโปร์ในไตรมาส 2/2018 ขยายตัว +3.9% YoY (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประกาศครั้งก่อนหน้าที่ +3.8% YoY) ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว +4.5% YoY โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิตซึ่งขยายตัว +10.2 % YoY (ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ขยายตัว +10.8% YoY) โดยมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไบโอเคมิคอล และวิศวกรรมขนส่ง (Transport Engineering) ขยายตัวโดดเด่น ในทางตรงกันข้าม ภาคการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -4.6% YoY (ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -5.2 %) สำหรับภาคบริการขยายตัวได้ที่ +2.8% YoY (ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ขยายตัว +4.0% YoY) โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากธุรกิจการเงินและประกันภัย ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจร้านอาหาร
  • การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน (NODX) ของสิงคโปร์เดือนก.ค. ขยายตัวเร่งขึ้นที่ +11.8% YoY จากที่ขยายตัว +0.8 % YoY ในเดือนมิ.ย. โดยการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว +18.8% (เร่งขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัว +4.5% YoY) นำโดยเวชภัณฑ์ (+109.2%) อาหารปรุงแต่ง (food preparations) (+120.4%) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (+41.3%) ขณะที่ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลง  -3.8% YoY (จากการส่งออกวงจรรวม (ICs,) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือน และส่วนประกอบของ PCs ที่หดตัว -12.0%, -24.7 และ -12.3% ตามลำดับ) สำหรับการส่งออกโดยรวมของสิงคโปร์ ขยายตัว +13.7% YoY เร่งขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัว +8.0% YoY  ส่วนการนำเข้าขยายตัว +22.1% YoY เร่งขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัว +12.7% YoY

ฟิลิปปินส์

  • อัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ +5.7% YoY จากเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัว +5.2% YoY เหนือกรอบเป้าหมายที่ทางการฟิลิปปินส์ได้ตั้งไว้ที่ 2-4% เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงได้รับแรงกดดันมาจากการขยายตัวที่เร่งขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งเพิ่มขึ้น +7.1% YoY (prev. +6.1% YoY), กลุ่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบที่เพิ่มขึ้น +21.5% YoY (prev. +20.8% YoY), กลุ่มที่อยู่อาศัย น้ำประปา ไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น +5.6% YoY (prev. +4.6% YoY), กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในบ้านที่เพิ่มขึ้น +3.3% YoY (prev.+3.0% YoY), กลุ่มการขนส่งที่เพิ่มขึ้น +7.9% YoY (prev.+7.1% YoY) และกลุ่มการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น +0.5% YoY (prev.+0.4% YoY)
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight RRP) 50 bps จาก 3.5% เป็น 4.0% ในวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา BSP ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้ง รวม 100 bps เพื่อเป็นการชะลอความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการปฏิรูปภาษี (TRAIN) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2018

มาเลเซีย

  • เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 2/2018 ขยายตัว +4.5% YoY ชะลอตัวลงจาก +5.4% YoY ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกสุทธิที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้า +2.1% YoY หลังจากหดตัว -2.0% YoY ในไตรมาสที่แล้ว บวกกับการชะลอตัวของการส่งออกจาก +3.7% YoY เป็น +2.0% YoY อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศยังเติบโตได้ดี นำโดยการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เติบโต +8.0% YoY เพิ่มขึ้นจาก +6.9% YoY ในไตรมาส 1/2018 และการใช้จ่ายของภาครัฐที่เติบโต +3.1% YoY จาก +0.1% YoY รวมทั้งการลงทุนในประเทศที่ขยายตัว +2.2% YoY จาก +0.1% YoY ในไตรมาสก่อนหน้า