มุมมองจากผู้จัดการกองทุนหลัก
ภาวะการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ตลาดหุ้นโลกเมื่อวัดจาก MSCI AC World Net พบว่าแม้ในไตรมาสสองผลตอบแทน (ในรูปของผลตอบแทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) จะเพิ่มขึ้น +0.50% แต่เมื่อปิดครึ่งปีแล้วผลตอบแทน (YTD) ยังคงเป็นลบ -0.40% เหตุจากความกังวลการค้าที่ยกระดับสูงขึ้นภายหลังสหรัฐฯขยับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าประเภทรถยนต์จากยุโรปเพื่อตอบโต้สหภาพยุโรปที่ได้ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯไปก่อนหน้า สหรัฐฯยังคงเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้าจีน และจีนก็ยังคงตอบโต้สหรัฐฯกลับไปกลับมา หากมองด้านการเงินพบว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งได้เปิดทางให้ธนาคารกลาง (เฟด) ไว้ใช้เป็นโอกาสสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกสองครั้งที่เหลือของปีนี้ ในส่วนของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ประกาศยกเลิกมาตรการทางด้านการเงิน (คิวอี) สิ้นเดือนธ.ค.2018 แต่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมต่อในปี 2019 ทางด้านธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราส่วนของเงินที่ธนาคารจะต้องสำรองลง 1% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สรุปผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก Wellington Global Opportunity ช่วงไตรมาสสอง
กองทุนหลักสร้างผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีเหตุจากผลการดำเนินงานของหุ้นลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน และวัสดุ มีราคาลดลง บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิบริษัท Flex ซึ่งเป็นบริษัทสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจออกแบบ ผลิต สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคมีราคาลดลงมากที่สุดถึง -13.7% ในไตรมาสนี้เพราะผลกำไรสุทธิออกมาต่ำกว่าคาดและมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อ กองทุนหลักยังมั่นใจลงทุนต่อเพราะเชื่อว่าบริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนต่อเงินลงทุนได้จากสายธุรกิจอื่นที่ทำกำไรได้ดีและมีอัตราการทำกำไรระดับสูงเช่นธุรกิจยา ธุรกิจยานยนต์ และธุรกิจแฟชั่น บริษัทได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทรองเท้าไนกี้โดยช่วยไนกี้ผลิตรองเท้าด้วยวิธีระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ (ออโตเมชั่น) อันจะนำมาซึ่งการผลิตรองเท้าที่ทันกระแสความต้องการผู้บริโภคตลอดเวลา บริษัทในพอร์ตลงทุนที่อยู่ในกลุ่มพลังงาน อาทิบริษัท Petrobas ผลตอบแทนเป็นลบ -34.3% หลังการลาออกของซีอีโอสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนต่อกลยุทธ์ธุรกิจในอนาคต กองทุนหลักลงทุนบริษัทนี้เพราะเล็งเห็นพัฒนาการด้านธรรมาภิบาลสูงขึ้นแต่หลังการลาออกของซีอีโออย่างไม่ทันคาดคิดและการคุมราคาจากภาครัฐ กองทุนหลักจึงขายหุ้นบริษัทดังกล่าวออกไปช่วงไตรมาสสอง
ผลการดำเนินงานทางด้านบวกของกองทุนหลักมาจากหุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสถาบันการเงิน สำหรับบริษัทในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัทไนกี้สร้างผลตอบแทนดีเยี่ยม ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 20.3% เพราะผลกำไรสุทธิออกมาดีกว่าคาด ยอดขายในอเมริกาเหนือเติบโตดันกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น กองทุนหลักเชื่อว่าไนกี้มีความสามารถให้ผลกำไรเทียบเงินลงทุนได้เป็นอย่างดีจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง นวัตกรรมใหม่ๆเปิดโอกาสให้ไนกี้เพิ่มราคาสินค้าได้อีก สำหรับบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงิน โตเกียว มารีน สร้างผลตอบแทนได้ดีจากยอดขายประกันในญี่ปุ่นที่เติบโต ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นสนับสนุนหุ้นกลุ่มบริษัทประกัน กองทุนหลักขายทำกำไรบริษัทดังกล่าวในจังหวะที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น
มุมมองต่อตลาดหุ้นโลกและฐานะการลงทุน
กองทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกทั้งที่มีสัญญาณว่าอัตราการเติบโตจะเริ่มชะลอและความตึงเครียดการค้าสหรัฐฯสูงขึ้นเพราะกิจกรรมระดับภาคธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งและการพึ่งพาหนี้สินระดับสูงแทบจะไม่เกิดขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อระดับต่ำจึงไม่เป็นปัจจัยให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากนัก
ในส่วนของฐานะการลงทุน กองทุนหลักยังคงให้น้ำหนักกับบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศมากเป็นพิเศษ โดยลงทุนด้วยความระมัดระวังเนื่องจากระดับ Valuation หุ้นที่ทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตลอดสองปีที่ผ่านมา ระหว่างไตรมาสกองทุนลงทุนเพิ่มในบริษัทไมโครซอฟเพราะตลาดให้ค่ากับบริษัทน้อย ทั้งที่บริษัทสร้างผลตอบแทนเทียบเทียบเงินลงทุนระดับน่าดึงดูดเนื่องจากรายได้จากซอฟแวร์ทางด้านคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์เติบโต ในช่วงหุ้นกลุ่มเทคฯผันผวนกองทุนลงทุนเพิ่มในบริษัทกูเกิ้ลและเทนเซน และขายทำกำไรบริษัทแอปเปิ้ล เซลล์ฟอร์ซ และเซอร์วิสนาว
นอกจากนี้ กองทุนหลักพบโอกาสอันน่าตื่นตาตื่นใจในหุ้นจีนโดยจะให้น้ำหนักลงทุนหุ้นจีนมากเป็นพิเศษที่ผ่านมากองทุนหลักศึกษาวิจัยหุ้นจีน A-Shares เพิ่มขึ้น โดยลงทุนหุ้นจีนที่จดทะเบียนในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกงมาตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมาเช่นบริษัท Tencent, Alibaba และ Ctrip.com พบโอกาสเติบโตอันน่าตื่นตาตื่นใจในระดับมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจมากๆ
มุมมองต่อเศรษฐกิจโลกรอบ 2H2018
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกถูกปรับประมาณการณ์ขึ้นประมาณ 0.2% เป็น 3.9% การคาดการณ์ดังกล่าวมีพื้นฐานจากภาวะทางการเงินที่สนับสนุนการเติบโต อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการจากประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก อีกทั้งพบว่าประมาณ 120 ประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 3 ใน 4 ของโลกมีอัตราการเติบโตที่เป็นบวกในปี 2017 สำหรับประเทศสำคัญๆ IMF คาดการณ์อัตราการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อปี 2018 ดังนี้
ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก
- นโยบายภาษีสหรัฐฯ ผลจากการปฏิรูปภาษีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับลดภาษีนิติบุคคลลงและการเปิดให้บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนมาหักลดฐานภาษี ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น การบริโภคในประเทศ การนำเข้าสินค้าที่กระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลบวกต่อประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯเช่นกัน
- อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการของประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ไม่เพียงแค่ในสหรัฐฯเท่านั้น อัตราการเติบโตในกลุ่มสหภาพยุโรปปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมัน อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ที่มีโมเมนตัมที่ดีจากความอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ในสเปนแม้จะมีการปรับลดตัวเลขลงอันเนื่องมาจากความตึงเครียดทางการเมืองแต่ยังคงสูงกว่าคาด ขณะที่ประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วทางฝั่งเอเชียซึ่งมีการพึ่งพาการค้าจากต่างชาติสูงต่างมีตัวเลขที่ดีขึ้นอันเนื่องมาจากอุปสงค์ตลาดโลกที่เร่งตัว
- ตลาดเกิดใหม่ทางฝั่งเอเชียเติบโตดีไม่แพ้กัน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทางฝั่งเอเชียคาดว่าจะเติบโตราว 6.5% ในอัตราเดียวกับปีที่แล้ว คาดว่าจีนจะเติบโตในอัตราที่ช้าลงขณะที่อินเดียจะเร่งตัวขึ้น ประเทศ ASEAN-5 คาดว่าจะเติบโตในอัตราเท่าเดิม หากดูโดยภาพรวมแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภูมิภาคนี้
ปัจจัยเสี่ยงหลัก
- นโยบายที่ให้ความสำคัญเฉพาะกับประเทศตนเอง (Inward –Looking policies) การเจรจาต่อรองการค้าของประเทศต่างๆ ในในเวทีโลก (อาทิ NAFTA, BREXIT) เริ่มเป็นไปในทิศทางที่หันหลังให้กับประเทศคู่ค้ามากขึ้น สหรัฐฯก็เป็นหนึ่งในแกนนำที่มีนโยบายดังกล่าว แนวทางนี้จะบั่นทอนภาวะการลงทุนของโลก ประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าต่างๆจะลดลง
- ความตึงเครียดด้านสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เกาหลีเหนือและโซนตะวันออกกลางอาจสร้างความกังวลให้กับตลาด การเลือกตั้งที่คืบคลานเข้ามาในหลายประเทศ
ปัจจัยบวกและลบต่อภาวะตลาดหุ้นโลกใน 2H2018
สหรัฐฯ:
(+) หุ้นสหรัฐฯในกลุ่มเทคโนโลยีจะยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องในครึ่งปีแรกเนื่องจากผลกำไรบริษัทในกลุ่มนี้เหนือกว่าที่ตลาดคาดการณ์อีกทั้งมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและตลาดโดยภาพรวม อีกทั้งลักษณะธุรกิจ ปัจจัยพื้นฐาน โครงสร้างทางการเงินบริษัทเหล่านี้ แตกต่างจากช่วงวิกฤตดอทคอมปี 1999 สิ้นเชิง
(-) ตลาดรับรู้ต่อปัจจัยบวกทางด้านกฏหมายภาษีฉบับใหม่ที่ออกมาของทรัมป์ไปเรียบร้อยแล้ว
(-) ความผันผวน (Correction) อาจปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นในปัจจุบันมีความผันผวนต่ำกว่าระดับปกติที่ควรจะเป็น
ยุโรป:
(+/-) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศยกเลิกมาตรการทางด้านการเงิน (คิวอี) สิ้นเดือนธ.ค.2018 แต่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมต่อจนถึงปี 2019
(-) การเมืองยุโรปยังเป็นพาดหัวข่าวให้เห็นต่อเนื่อง เนื่องจากการที่เยอรมันได้รัฐบาลผสมที่ไม่ได้มีอำนาจชัดเจนจึงต้องมีการพูดคุยกันอยู่ระหว่างนางแองเจล่า เมอร์เคล ซึ่งอยู่พรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมฝ่ายซ้าย
ญี่ปุ่น:
(+) จากการสำรวจบริษัทในเกียวโตจำนวน 113 บริษัทในเดือนก.ค.พบว่าร้อยละ 82 เชื่อว่าเศรษฐกิจขยายตัวในปีนี้ ด้วยแรงส่งของเงินลงทุนของบริษัทในสินทรัพย์ถาวรและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ผลบวกที่ว่านี้จะยังดีอยู่แม้ว่าสหรัฐฯจะดำเนินนโยบายกีดกันการค้าอย่างไม่ลดละ
(+) แม้การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวลงในเดือนมิ.ย.แต่อัตราค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นได้รวดเร็วมากที่สุดใสรอบ 21 ปี โดยได้รับอานิสงส์ของโบนัส (รายได้ที่เป็นเงินก้อนของคนญี่ปุ่น) ในช่วงฤดูร้อนเดือนมิ.ย.-ส.ค. จึงเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวนั้นจะยกระดับไปในวงกว้างและยาวนาน
(+/-) ธนาคารกลางญี่ปุ่นเตรียมแผนเบื้องต้นไว้ว่าเดือนก.ค.จะเริ่มส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยและจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ย.ซึ่งนำไปสู่การจบสิ้นของการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำโดยไม่มีกำหนดกรอบเวลามาอย่างยาวนาน
(-) รัฐมนตรีซึ่งดูแลการฟื้นฟูเศรษฐกิจนาย Toshimitsu Motegi ชี้ว่าเขาขอให้สหรัฐฯยกเว้นประเทศญี่ปุ่นจากแผนการขึ้นภาษีศุลกากรรถยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถือว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเพราะสหรัฐฯได้เพิ่มภาษีสินค้าเหล็ก 25% และอลูมิเนียม 10% ไปก่อนหน้านี้แล้วในเดือน มี.ค.
ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market):
(+) ท่ามกลางสงครามการค้า กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี MSCI All China ในไตรมาส 2Q2018 ยังเติบโตได้ระดับ 11-13% ต่อปี ซึ่งถือว่าเท่ากับ/สูงกว่าที่ตลาดคาดภายหลังเกิดสงครามการค้า ระดับ Valuation ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี (สำหรับหุ้นจีนที่จดทะเบียนในประเทศ) และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปี (สำหรับหุ้นจีนที่จดทะเบียนต่างประเทศ) เมื่อใดก็ตามที่ความกังวลการค้ายุติลงมีโอกาสที่หุ้นจะเพิ่มขึ้น (Re-Rating) ภายหลังจากที่ถูกแรงขายจากนักลงทุนรายย่อยในช่วงก่อนหน้านี้
(+) การรวมหุ้นจีน A-Shares ที่ซื้อขายในตลาดเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้นเข้าไว้ในดัชนี MSCI Emerging Market ในเดือนมิ.ย. 2018 ทวีความสนใจให้กับนักลงทุนทั่วโลกต่อตลาดหุ้น Mainland ของจีน เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสลงทุนในบริษัทดีๆอีกจำนวนมาก อีกทั้งผลตอบแทนตลาดหุ้นจีน A-Shares ไม่ค่อยผันผวนไปตามภาวะปัจจัยตลาดโลกเท่าไร่นัก จึงช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน
(-) หากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีสูงขึ้นทำให้กระแสเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (EM)
(-) แม้ตลาดจะเริ่มคลายกังวลต่อประเด็นเศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่ประเทศอื่นที่พึงพิงเศรษฐกิจกับจีนมากเกินไปก็อาจอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงได้หากจีนมีปัญหา
ที่มา: Wellington Management Singapore Pte Ltd., Japan Times, Nomura Asset Management Singapore Limited, Financial Times
กลยุทธ์ลงทุนของ Wellington Global Opportunities
แสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวในหุ้นทั่วโลก ด้วยการวิเคราะห์หุ้นจากปัจจัยพื้นฐานและข้อมูลเชิงลึกของบริษัท ประกอบกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจมหภาค โดยพิจารณาจาก
- ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return to Capital)
- งบการเงินและโครงสร้างของอุตสาหกรรมเพื่อหาบริษัทที่ให้ผลตอบแทนอย่างยั่งยืนและปรับตัวได้ดี
- โอกาสการลงทุนอันเกิดจากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาด อย่างเช่นนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเติบโตของกำไรในระยะสั้นจนเกินไป
กองทุนหลัก (Master Fund)
ชื่อ: Wellington Global Opportunities Equity Fund ชนิดหน่วยลงทุน Class S
นโยบายการลงทุน: เป็นกองทุนที่จดทะเบียนในประเทศลักเซมเบิร์กมีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญ รวมถึงหลักทรัพย์ต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นตราสารแห่งทุน เช่น หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ และใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงที่ออกโดยบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
วัดที่จดทะเบียน: กุมภาพันธ์ 2010
ประเทศที่จดทะเบียน: ลักเซมเบิร์ก
NAV: USD 21.43
เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): MSCI AC World Index Net
Morningstar Category: Large cap Growth
Bloomberg code: WLLGOAU LX
Fund size: USD 504.6 Million
Number of holdings: 114