กลุ่มกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ของกองทุนบัวหลวง

กลุ่มกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ของกองทุนบัวหลวง

กองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 หุ้นระยะยาวปันผล (BBASICDLTF)
กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 (BLTF75)
กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF)

Market Overview : ส.ค. 2018

  • ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน ส.ค. อยู่ในระดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1,722 จุด โดยมีความผันผวนในระหว่างเดือนจนทำให้ดัชนีหลุดแนวรับทางจิตวิทยาที่ 1,700 จุด สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยลบ อย่างประเด็นวิกฤติค่าเงินตุรกีหลังจากทางสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม เพื่อตอบโต้การที่รัฐบาลตุรกีได้ควบคุมตัวพลเมืองสหรัฐฯ ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารในตุรกีเมื่อปี 2016 ประเด็นวิกฤติค่าเงินตุรกีส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นใน Emerging markets รวมถึงไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ตลาดพลิกกลับมาได้อีกครั้ง จากการฟื้นตัวผ่านแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มสื่อสาร จากความเสี่ยงด้านการประมูลคลื่นที่คลี่คลายลง กลุ่มค้าปลีกในบางตัวที่มีผลประกอบการดีกว่าคาด และกลุ่มพลังงานที่ค่าการกลั่นปรับตัวสูงขึ้น เห็นได้ชัดว่าตลาดให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานเฉพาะหุ้นของหุ้นขนาดใหญ่บางตัว
  • แม้ว่าจะมีปัจจัยต่างประเทศกดดัน แต่แรงขายของนักลงทุนต่างชาติยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ระดับ 10,000 ล้านบาท ต่างจากประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม TIPs ที่เห็นการไหลออกเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ และค่าเงินอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วเรายังไม่เห็นปัจจัยสนับสนุนที่เป็นบวกอย่างชัดเจนในตลาดหุ้นไทย ทั้งผลประกอบการที่ออกมาไม่ได้โดดเด่นและความเสี่ยงจากต่างประเทศ เช่น วิกฤติค่าเงินในประเทศต่างๆ และสงครามการค้ายังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นอยู่

มุมมองตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.ย. ยังขาดปัจจัยบวกใหม่ อีกทั้งบรรยากาศการลงทุนของตลาดหุ้นในภูมิภาคยังถูกแรงกดดันทั้งประเด็นตัวเลขทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ค่าเงินสกุลท้องถิ่นเทียบกับสกุลหลัก และประเด็นของสงครามการค้าและความกังวลต่อวิกฤติทางเศรษฐกิจในบางประเทศอย่างอาร์เจนตินาและตุรกี การพิถีพิถันเลือกลงทุนเป็นพิเศษในหุ้นรายตัวที่มีแนวโน้มของผลประกอบการที่ดีและมีมูลค่าที่เหมาะสมเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับการลงทุนในช่วงนี้ โดยที่ผ่านมาอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ที่ระดับ 15.96 เท่า (14/9/2018) เทียบกับปลายปี 2017 ที่ 17.48 เท่า เรามองว่าเป็นระดับที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะกลางถึงยาวของตลาดหุ้นไทย

ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน

(+) เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

(+) การเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น ยังคงเดินหน้าตามโรดแมพได้ การประกาศช่วงเวลาการเลือกตั้งที่ชัดเจน ก็ช่วยให้ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นดีขึ้นด้วย

(+/-) กระแสเงินทุนต่างชาติเริ่มชะลอการไหลออก หลังจากขายหุ้นไทยตลอดทั้งปีออกมามากแล้ว โดยขายสุทธิทั้งปี -211,616 ลบ. (14/9/2018)

(-) ความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ (Trade war) กดดันตลาดทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% คิดเป็นมูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2018

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน

การลงทุนในหุ้นจะเน้นบริษัทคุณภาพที่มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็ง มีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่อง มีฐานะการเงิน แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง และมีแนวโน้มการจ่ายปันผลดีอย่างสม่ำเสมอ

หากมีการย่อตัวลงก็เป็นโอกาสในการคัดสรรหุ้นรายตัวที่มีแนวโน้มผลประกอบการที่ดีในช่วงระยะกลางถึงยาว และการหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเป็นการจำกัดความเสี่ยงของการลงทุนในระยะนี้

ขณะที่ ผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในช่วงที่ตลาดผันผวนและราคาหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดีลดต่ำลงกว่าราคาที่ควรจะเป็น รวมถึงได้ลดสถานะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ราคาหุ้นขึ้นมามากกว่าราคาที่ควรจะเป็น และ/หรือแนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือบริษัทอาจลดลงในอนาคต เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธนาคาร พลังงาน

โดยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอุตสาหกรรมพาณิชย์ การแพทย์ อาหาร/เครื่องดื่ม

ทั้งนี้ การเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมหรือรายบริษัท จะขึ้นอยู่กับกรอบนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ด้วย

ผลการดำเนินงานและความผันผวนของผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 ก.ค. 2018