Fund Comment: มุมมองตลาดตราสารหนี้ กันยายน 2561

Fund Comment: มุมมองตลาดตราสารหนี้ กันยายน 2561

มุมมองตลาดตราสารหนี้

เดือนกันยายนที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นเดือนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในประเทศสำคัญๆ หลายประเทศทั้งฝั่งยุโรป อเมริกา เอเชียรวมถึงไทย ซึ่งผลการประชุมทางฝั่งยุโรปทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ก็เป็นไปตามที่ตลาดคาด ECB ประกาศลด QE ลงครึ่งหนึ่งเป็น 1.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนในไตรมาส 4 และจะกลับมาพิจารณาการยุติ QE อีกครั้ง และ BoE ได้มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% มาทางฝั่งเอเชีย ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของบางประเทศ เช่น ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ปรับขึ้น 0.25% เป็น 5.75% ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ปรับขึ้น 0.50% เป็น 4.50%

ส่วนทางด้านไทยนั้น ที่ประชุม กนง. มีมติคงนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% ตามคาด แต่จุดสนใจของตลาดอยู่ที่มติ 5 ต่อ 2 เสียง โดย 2 เสียงนั้นเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งถือว่ารอบนี้มีแรงหนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนๆ ที่ส่วนใหญ่มติจะออกมา 6 ต่อ 1 เสียง และในแถลงการณ์ระบุว่า “คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดำเนินนโนบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน จะทยอยลดความจำเป็นลง” ซึ่งทำให้ตลาดบางส่วนตีความว่าเริ่มเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่

ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ผลการประชุม Fed เป็นไปตามคาด โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ขณะเดียวกัน Dot Plot ก็ชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้ และในปีหน้ามีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งเหมือนกับ Dot Plot ที่ออกมาหลังการประชุมในเดือนมิถุนายน

ประกอบกับยังมีปัจจัยหลักอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ ตลาดยังคงจับตาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติในเร็ววัน โดยเมื่อวันที่ 17 กันยายน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 10% คิดเป็นวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กันยายน ครอบคลุมสินค้าถึงเกือบ 6,000 รายการ และจะเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้า และในวันต่อมา จีนประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราภาษี 5-10% คิดเป็นวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้โดยจะพุ่งเป้าไปยังสินค้าสหรัฐจำนวน 5,207 รายการ

ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกช่วงอายุ ในช่วง 0.02-0.12% โดยมีเพียงพันธบัตรระยะสั้นอายุ 1 เดือนเท่านั้นที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.01% ขณะที่พันธบัตรอายุ 1 ปี เพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ 0.12% ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 0.10% ตาม Bond Yield อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 0.19% อยู่ที่ 3.05% (ข้อมูล ณ 28 ก.ย.) หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่องซึ่งจะสนับสนุนให้ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

ในระยะต่อไปมองว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยจะเผชิญความผันผวนที่สูงขึ้นจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ประเด็นเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ความกังวลต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวงยังมีมุมมองว่า ธปท.ยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงปลายปี ทำให้แรงกดดันส่วนนี้ยังจำกัด ขณะเดียวกัน ไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ฐานะด้านต่างประเทศมีความเข้มแข็งมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จึงสามารถรองรับต่อความเสี่ยงจากภายนอกได้เป็นอย่างดี