BF Economic Research
รมณ ไชยวรรณ
Macro Analyst
Fund Management Group
- เศรษฐกิจยูโรโซนในครึ่งแรกของปี 2018 ขยายตัว 2.3% YoY ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกสุทธิที่ได้รับแรงกดดันจากเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นเป็นประเด็นฉุดรั้งหลัก ขณะที่ การลงทุนและการบริโภคในประเทศยังคงสามารถขยายตัวได้
- สำหรับเศรษฐกิจของยูโรโซนในช่วงที่เหลือของปี 2018 นี้ น่าจะเติบโตชะลอลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากยังคงมีประเด็นท้าทายโดยเฉพาะการเมืองภายในภูมิภาคและเศรษฐกิจที่เปราะบางในบางประเทศสมาชิก
- อย่างไรก็ดี หากตัดภาพความวุ่นวายทางการเมืองออกไปจะพบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจรายตัวเริ่มปรับตัวดีขึ้นเห็นได้จากตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ดี ประกอบกับปริมาณสินเชื่อของยูโรโซนและเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวขึ้น พร้อมกันที่ ECB ได้ประกาศยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน หรือ QE ในสิ้นปี 2018 นี้ ซึ่งสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัว
- ทั้งนี้ ในปี 2019 จะเข้าสู่ทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งหากยูโรโซนเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว ก็น่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนให้ไหลเข้าสู่ภูมิภาคยุโรปได้
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปช่วงที่เหลือของปี 2018 อาจจะชะลอลงจากการส่งออกแต่การบริโภคยังขยายตัวดี
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2018 ขยายตัว 2.1% YoY ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านซึ่งขยายตัว 2.4% YoY โดยเป็นการชะลอลงในทุกประเทศซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในยูโรโซน 4 อันดับแรกคือ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนในครึ่งแรกของปี 2018 ขยายตัว 2.3% YoY ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกสุทธิ (Net export) ที่ได้รับแรงกดดันจากเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นประเด็นฉุดรั้งหลัก ขณะที่ การลงทุนและการบริโภคในประเทศยังคงสามารถขยายตัวได้
สำหรับเศรษฐกิจของยูโรโซนในช่วงที่เหลือของปี 2018 นี้ น่าจะเติบโตชะลอลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากยังคงมีประเด็นท้าทายโดยเฉพาะการเมืองภายในภูมิภาคและเศรษฐกิจที่เปราะบางในบางประเทศสมาชิก อีกทั้ง ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างประเทศในประเด็น Trade War ล่าสุดเมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2018 ลงเหลือ 2.0% จากเดิม 2.1%
การเจรจาเบร็กซิทยังคงตึงเครียด
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนที่สหราชอาณาจักรจะต้องบรรลุข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป (EU) ตามกำหนดอย่างเป็นทางการคือ วันที่ 29 มี.ค. 2019 หากแต่สถานการณ์ปัจจุบันยังคงไม่ราบรื่นนัก หลังจากที่ EU ได้ปฏิเสธแผนเชกเกอร์ส (Chequers plan) ของนางเทเรซ่า เมย์ ในการประชุมสุดยอด EU ที่ออสเตรียเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา นำมาซึ่งบรรยากาศที่ตึงเครียดในภูมิภาคยุโรปอีกครั้ง ทั้งนี้ EU ยอมรับไม่ได้หากสหราชอาณาจักรจะออกจาก EU แต่ยังคงมีความตกลงทางการค้าร่วมกันและอยู่ในตลาดเดียวกันนั้น นอกจากนี้ จากการเจรจาล่าสุดที่กรุงลอนดอน ทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นที่สำคัญสุด คือประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ เนื่องจากสหราชอาณาจักรต้องการสิทธิ์ในการควบคุมชายแดนคืน แต่ผู้นำอังกฤษและ ผู้นำ EU ยังคงยืนยันว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ โดยหลังจากนี้ยังคงต้องจับตาการประชุมสุดยอด EU ที่จะจัดขึ้นกลางเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งคาดว่า EU และสหราชอาณาจักรจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยกรณีที่มีความเป็นไปได้มี 3 กรณีคือ 1) กรณีซอฟท์เบร็กซิทซึ่งเป็นกรณีรอมชอมและไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก, 2) กรณีฮาร์ดเบร็กซิทซึ่งเป็นการออกจาก EU อย่างเด็ดขาด หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดคือ 3) เบร็กซิท No Deal หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้สหราชอาณาจักรต้องออกจาก EU ทันทีโดยไม่ผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านและไม่มีข้อตกลงทางการค้ารองรับ โดยกรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปจากความเชื่อมโยงทางการค้าของทั้งสองฝ่ายได้
อิตาลีประกาศงบประมาณขาดดุลการคลังกว่า -2.4% ของ GDP
สถานการณ์การเมืองในอิตาลียังคงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของยุโรป ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการนำเสนอต่อแผนงบประมาณซึ่งมีเป้าหมายการขาดดุลในปี 2019 กว่า -2.4% ของ GDP โดยเป็นการกำหนดงบประมาณครั้งแรกของรัฐบาลผสมของพรรคไฟว์ สตาร์ และพรรคเดอะ ลีก ซึ่งดำเนินนโยบายแบบประชานิยมตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง แต่สหภาพยุโรปได้มีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากการขาดดุลการค้าจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพทางการคลังของอิตาลีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตอิตาลีเคยขอความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านเงื่อนไขที่จะดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด กระทั่งหนี้สาธารณะของอิตาลีทยอยลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 131.8% ของ GDP ซึ่งแผนงบประมาณดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะไม่ปรับลดลง ดังนั้น จึงคาดว่า EU จะปฏิเสธแผนดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดอิตาลีน่าจะดำเนินการปรับแก้ไขงบประมาณลงกระทั่งสามารถรอมชอมกันได้ภายในเดือน ธ.ค.ปีนี้
อย่างไรก็ดีปัจจัยที่กล่าวข้างต้น แม้จะเป็นปัจจัยรุมเร้าความมั่นใจของนักลงทุนในขณะนี้ แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าปัญหาเบร็กซิทและอิตาลีไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะคลี่คลายได้ในที่สุด
ทิศทางเงินทุนในปี 2019 มีแนวโน้มไหลไปยังยุโรป
หากเราตัดภาพความวุ่นวายทางการเมืองออกไปจะพบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจรายตัวเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอยู่ในระดับที่สูงเห็นได้จากตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ดี โดยอัตราการว่างงานของยูโรโซนในเดือนส.ค. 2018 ลดลงเหลือเพียง 8.1% หรืออยู่ที่ประมาณ 13.22 ล้านคน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ สหภาพยุโรปก็มีอัตราการว่างงานที่ลดลงเช่นกันที่ 6.8%
ในขณะเดียวกัน ปริมาณสินเชื่อของยูโรโซนเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะปริมาณสินเชื่อภาคธุรกิจในเดือนส.ค.ที่ขยายตัวได้สูงถึง 4.2% ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ให้ภาพความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคธุรกิจในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ ทิศทางเงินเฟ้อของยูโรโซนมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จากแนวโน้มค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว บวกกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย.ได้ขึ้นไปแตะที่ 2.1% YoY เกินกรอบเป้าหมายที่ ECB ตั้งไว้ที่ 2.0% ทั้งนี้ ECB ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2018 เป็น 1.7% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.4%
พร้อมกันที่ ECB ได้ประกาศยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน หรือ QE ในสิ้นปี 2018 นี้ โดยจะทยอยลดการเข้าซื้อพันธบัตรเหลือ 15,000 ล้านยูโรจากเดิม 30,000 ล้านยูโรต่อเดือน ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ก่อนจะยุติใน ปี 2019 ซึ่งการส่งสัญญาณยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ ECB สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัว ขณะเดียวกัน ECB ยังจะคงดอกเบี้ยนโยบายกระทั่งฤดูใบไม้ร่วง หรือประมาณเดือนก.ย.ปีหน้า ซึ่งจะเป็นแรงส่งสำคัญให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปซึ่งขณะนี้ขยายตัวเล็กน้อยให้สามารถขยายตัวต่อเนื่องไปอีกในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ในปี 2019 จะเข้าสู่ทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งหากยูโรโซนเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว ก็น่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนให้ไหลเข้าสู่ภูมิภาคยุโรปได้ ผ่านทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างยูโรและดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นในปี 2019