Economic Review ตุลาคม-พฤศจิกายน 2018 : ความตึงเครียดทางการค้าส่งผลต่อมุมมองทางเศรษฐกิจในปี 2019

Economic Review ตุลาคม-พฤศจิกายน 2018 : ความตึงเครียดทางการค้าส่งผลต่อมุมมองทางเศรษฐกิจในปี 2019

BF Economic Research

Fund Management Group

IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2018-2019 ลง มาที่ 3.7%

IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2018-2019 ลง มาที่ 3.7% เป็นการปรับลดจากประมาณการครั้งที่แล้ว (เดือนก.ค.) ที่ 3.9% ทั้งสองปี 

ในการประมาณการรอบนี้ IMF ให้เหตุผลว่าแม้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ดี แต่พบ “ความไม่สมดุลของการขยายตัว  (Less-balanced Growth)” โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงขาลง (Downside Risks) มากขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่เป็นแรงสนับสนุน กลับอ่อนแรงลง ทั้งนี้ IMF ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจให้ขยายตัวชะลอลงเพราะเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนในหลายประเทศมีโมเมนตัมที่ชะลอลง ขณะที่ประเด็นด้านความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเริ่มให้ผลเชิงประจักษ์ในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ย.

สำหรับภาพของเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่หรือ EM มีความอ่อนแอเชิงโครงสร้างอยู่แล้วเป็นทุนเดิม (เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล และเป็นเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ) ประสบกับปรากฏการณ์จากภายนอกที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวอ่อนแอลง เช่น การที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ค่าเงินอ่อนค่ารวดเร็ว ทุนสำรองระหว่างประเทศต้องปรับตัวลดลงเพื่อบริหารเสถียรภาพของค่าเงิน เป็นผลให้ประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้นโยบายทางการเงินและการคลังอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูความมั่นใจนักลงทุน และสกัดกั้นไม่ให้เศรษฐกิจถูกกระทบแรง

ในรายประเทศ

  • สหรัฐฯ  IMF คงประมาณการ GDP ของปีนี้ไว้ที่ 2.9% เหมือนเดิม หนุนจากนโยบายผ่อนคลายทางการคลัง แต่ปรับลดประมาณการปี 2019 ลง -0.2pp เป็น 2.5% จากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีน และได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ
  • จีน IMF คงประมาณการ GDP ปีนี้ไว้ที่ 6.6% แต่ปรับลดประมาณการปีหน้าลงเช่นเดียวกัน -0.2 pp เป็น 6.2%
  • ยูโรโซน IMF ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2018 นี้ลง -0.2pp เป็น 2.0% จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดในช่วงครึ่งแรกของปี โดยคงประมาณการ GDP ปี 2019 ที่ 1.9%
  • ญี่ปุ่น IMF ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปีนี้ขึ้น +0.1pp เป็น 1.1% และคงประมาณการ GDP ปีหน้าที่ 0.9%
  • กลุ่มตลาดเกิดใหม่ IMF ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2018 และปี 2019 ลง -0.2pp และ-0.4pp เป็น 4.9% YoY และ 4.7% YoY ตามลำดับ โดยเฉพาะในประเทศอาร์เจนตินา บราซิล อิหร่าน และตุรกี ซึ่งประสบวิกฤติค่าเงิน
  • ประเทศไทย IMF คาด GDP ไทยจะเร่งตัวขึ้นเป็น 4.6% ในปีนี้ (vs. 3.9% ปี 2017) และ 3.9% ในปี 2019

IMF กล่าวว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดเงินไหลออกเป็นจำนวนมากจากประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่IMF ประเมินว่าหากสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อต่อไป และสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นภาษีนำเข้า (รวมถึงรถยนต์) ขณะที่ประเทศอื่นๆออกมาตรการตอบโต้กลับ จะส่งผลให้ GDP โลกปรับลดลงกว่า -0.8pp ในปี 2020 โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ จะรุนแรงที่สุด

IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงในปี 2018-2019

ดัชนี PMI เริ่มชะลอลง แต่ของสหรัฐฯยังแข็งแกร่ง

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Final Composite PMI) เดือน ก.ย. ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาคบริการที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนีของยูโรโซนยังโดนแรงกดดันจากภาคการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมอย่างเป็นทางการเดือน ก.ย.ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาคบริการที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนีของยูโรโซนยังโดนแรงกดดันจากภาคการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ส่วนดัชนีของญี่่ปุ่นปรับลดลงตามภาคบริการที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

สหรัฐฯ: ดัชนีโดย ISM เพิ่มขึ้น +2.6 จุด เป็น 61.4 จุด ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการเพิ่มขึ้นของภาคบริการ (+3.1, 61.6 จุด) ที่ช่วยชดเชยการปรับลดลงของภาคการผลิต (-1.5, 59.8 จุด) ขณะที่ดัชนี PMI จัดทำโดย Markit กลับชะลอลงมาที่ 53.9 จุดหรือลดลงจากเดือนที่แล้ว -0.8 จุดเป็นผลจากการชะลอลงของภาคบริการ (-1.3, 53.5 จุด) ส่วนภาคการผลิตปรับดีขึ้น (+0.9, 55.6 จุด)

ยูโรโซน: ดัชนีปรับตัวลดลง -0.4 จุด เป็น 54.1 จุด จากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีของภาคการผลิต (-1.4, 53.2) ขณะที่ภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+0.3, 54.7 จุด) หากพิจารณาเป็นรายประเทศ ดัชนีของทั้งเยอรมนี (-0.6, 55.0 จุด), ฝรั่งเศส (-0.9, 54.0 จุด) และสเปน (-0.5, 52.5 จุด) ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีของอิตาลีเพิ่มขึ้น (+0.7, 52.4 จุด)

อังกฤษ: ดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.1 จุด เป็น 54.1 จุด แต่ดีกว่าตลาดคาดที่ 53.9 จุด จากภาคบริการที่ปรับตัวลดลง (-0.4, 53.9 จุด) ขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่คาด (+0.8, 53.8 จุด)

ญี่ปุ่น: ดัชนีปรับตัวลดลง -1.3 จุด เป็น 50.7 จุด ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากการปรับลดลงของภาคบริการ (-1.3, 50.2 จุด) ขณะที่ภาคการผลิตทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนที่ 52.5 จุด

จีน: ดัชนีโดย Caixin ปรับตัวขึ้น 0.1 จุดสู่ 52.1 จุดจากการปรับขึ้นของภาคบริการ (1.6, 53.1) ส่วนการผลิตชะลอลงจากเดือนก่อน (-0.6, 50.0)

ตลาดเกิดใหม่ (EM): ดัชนีของบราซิลปรับตัวลดลง -0.5 จุด เป็น 47.3 จุด จากทั้งภาคการผลิต (-0.2, 50.9 จุด) และการบริการ (-0.4, 46.4 จุด) ที่ปรับตัวลดลง

ดัชนี PMI เริ่มชะลอลง