วัตถุประสงค์การลงทุน: กระจายการลงทุนในตราสารแห่งทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารหนี้และหรือเงินฝาก รวมทั้งหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
Bloomberg (A): BFLEX TB / BACTIVE TB
Fund Size: B-FLEX: 1,705 ล้านบาท / B-ACTIVE 421 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 2018)
Morningstar Category: B-FLEX: Conservative Allocation / B-ACTIVE: Aggressive Allocation
สรุปภาพรวมตลาดตราสารทุนไทยช่วงเดือน ต.ค. 2018
ตลาดหุ้นไทยเปิดไตรมาสสุดท้ายของปีด้วยความผันผวนโดย SET Index ปรับลดประมาณ 5% พร้อมกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงกว่า 3% ซึ่งการปรับตัวลงของดัชนีเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีหุ้นทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปี 2019 ลดลงสู่ 3.7% จากเดิมที่ 3.9% โดยให้น้ำหนักในประเด็นของความเสี่ยงสงครามการค้า ความเปราะบางทางเศรษฐกิจรายประเทศ และภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง โดยตลาดหุ้นไทยในเดือน ต.ค. ปรับตัวลงกระจายในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันและการบริโภคภายในประเทศ
ขณะเดียวกัน การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 3.2% ส่งผลให้การถือครองสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกลดลง อีกทั้ง เดือนนี้ยังเป็นช่วงการประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 3/2018 โดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐบางรายได้เปิดเผยผลประกอบการที่สร้างความผิดหวังให้กับตลาด กอปรกับมูลค่าที่ตึงตัวจากความคาดหวังที่สูง
นอกจากปัจจัยภายนอกประเทศแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในประเทศ อาทิเช่น ตัวเลขการส่งออกที่ติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน รายได้ภาคเกษตรที่หดตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรหลังจากที่ดัชนีปรับขึ้นไปในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่มีสถานะขายสุทธิในเดือน ต.ค.กว่า 6 หมื่นล้านบาท รวมตั้งแต่ต้นปีขายสุทธิสะสม 2.7 แสนล้านบาท
สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในช่วงเดือน ต.ค. 2018
ในช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกช่วงอายุ โดยพันธบัตรระยะสั้น – กลาง ปรับขึ้นมากกว่าพันธบัตรระยะยาว (Flattening Bias) ตามตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯที่ได้รับผลกระทบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และจากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร รุ่นอายุ 10 ปี ของสหรัฐ ทดสอบระดับสูงสุดในรอบปีที่ร้อยละ 3.26 นอกจากนี้ปัจจัยในประเทศยังเสริมให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มส่งสัญญาณถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
กลยุทธ์การลงทุน
ผลการดำเนินงานของกองทุนในช่วงเดือน ต.ค. ปรับลดลงจากส่วนของตราสารทุนด้วยสภาวะตลาดที่ค่อนข้างผันผวนในระหว่างเดือน อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทคุณภาพที่มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็ง มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง มีฐานะการเงิน แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง และมีแนวโน้มการจ่ายปันผลดีอย่างสม่ำเสมอ
ผู้จัดการกองทุนใช้โอกาสที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น โดยเลือกหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดีที่ราคาลดต่ำลงกว่าราคาที่ควรจะเป็น รวมถึงได้ลดสถานะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ราคาหุ้นขึ้นมามากกว่าราคาที่ควรจะเป็น และ/หรือแนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือบริษัทอาจแย่ลงในอนาคต เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง โดยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร พลังงานและสาธารณูปโภค และธนาคาร
สำหรับตราสารหนี้ยังคงเป็นสินทรัพย์หลักที่มีคุณค่าสำหรับพอร์ตการลงทุน โดยผู้จัดการกองทุนยังคงมุ่งหวังผลตอบแทนระยะสั้นถึงกลางให้สูงกว่าดัชนีชี้วัดโดยเน้นการลงทุนทั้งในตราสารภาครัฐและเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสอดคล้อง เหมาะสมกับความเสี่ยง โดยผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ผู้ออกมีฐานะทางการเงินมั่นคง รวมถึงได้ Credit spread ที่น่าจูงใจเหมาะสมกับระดับความเสี่ยง โดยเลือกการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี
ผลการดำเนินงานและความผันผวนของผลการดำเนินงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 2018)
เกณฑ์มาตรฐาน B-FLEX: ผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่าง 50% ของ SET TRI, 25% ของ ThaiBMA Government Bond Index อายุ 1-3 ปี และ 25% ของดอกเบี้ย เงินฝากประจํา 1 ปี วงเงิน 1 ล้านบาท เฉลี่ย ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์
เกณฑ์มาตรฐาน B-ACTIVE: ผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่าง 50% ของ SET TRI, 25% ของ ThaiBMA Government Bond Index และ 25% ของดอกเบี้ยเงินฝากประจํา 1 ปี วงเงิน 1 ล้านบาท เฉลี่ย ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์