เป้าหมายที่ดีต้อง S-M-A-R-T
โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
เมื่อกล่าวถึงความฝันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เชื่อว่า ทุกคนอยากประสบความสำเร็จทางการเงิน กล่าวคือ มีเงินไว้ใช้จ่ายได้สบายๆ สามารถซื้อของ ซื้อสินทรัพย์ได้ตามที่ต้องการ ฯลฯ ทุกอย่างนี้ล้วนเป็นเป้าหมายทางการเงินที่เราควรวางแผนและให้ความสำคัญ เพราะเป้าหมายอาจกลายเป็น “เป้าหาย” หรือเป็นเพียงแค่ความฝันเท่านั้น หากขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี
การวางแผนทางการเงินที่ดีเกิดจากการ กำหนดเป้าหมายการเงิน (Financial Goal) ที่ชัดเจน กล่าวคือ ยิ่งเป้าหมายชัดเจนมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นก็มีมากขึ้น หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินทางในป่าใหญ่โดยใช้เข็มทิศช่วยนำทางนั่นเอง โดยการกำหนดเป้าหมายการเงินที่ดีและนิยมใช้กันคือ การกำหนดเป้าหมายตามหลัก S-M-A-R-T ซึ่งมีความหมายดังนี้
- Specific เป้าหมายชัดเจนไม่คลุมเครือ มีความเฉพาะเจาะจง สมมติว่าวางแผนการเงินเพื่อท่องเที่ยว ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า เที่ยวที่ไหน ประเทศอะไร เมืองอะไร จังหวัดอะไร รูปแบบการท่องเที่ยว ไปกันเอง ไปกับทัวร์ กินหรูอยู่สบายประมาณไหน ฯลฯ เพื่อที่จะสามารถประเมินค่าใช้จ่าย รวมถึงตั้งงบประมาณในการท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยให้ทราบว่า การออม/การลงทุน ที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนั้น ห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกมากน้อยเท่าไร เพื่อที่จะได้ปรับวิธีการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
- Measurable วัดผลได้เป็นตัวเลข (จำนวนเงิน) เพื่อให้เป้าหมายเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสามารถทำให้เราทราบว่า “สิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน” ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ โดยนำมาวัดผลว่าเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นแล้วหรือยัง ถ้ายังห่างไกลแสดงว่าวิธีการที่เลือกใช้นั้นอาจไม่ถูกต้อง ก็คงต้องปรับแผนกันใหม่
- Achievable ประเมินข้อจำกัดของตัวเอง และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เพื่อพิจารณาว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเงินที่ตั้งใจได้ด้วยวิธีใด ใจความสำคัญในส่วนนี้ก็คือ “การรู้จักตัวเอง” เช่น เรายอมรับความเสี่ยงได้เท่านี้ เป้าหมายที่ต้องการต้องใช้เงินเท่านี้ จากนั้นพิจารณาว่ามีวิธีใดบ้างที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายนั้น โดยวิธีที่เลือกจะต้องเป็นวิธีการที่เรามีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง
- Realistic มีความเป็นไปได้ สัมพันธ์กันในทุกส่วนตามหลัก S-M-A-R-T ได้อย่างสมเหตุสมผล สอดคล้องกับความเป็นจริง
- Time Bound เป้าหมายที่ดีควรมีเงื่อนไขของเวลา โดยกำหนดวัน/เดือน/ปี ที่ตั้งใจให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ ข้อดีของการกำหนดเวลาคือ สร้างแรงผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีจุดหมาย เมื่อมีจุดหมายเราก็จะมองเห็นความสำคัญ เกิดความมุ่งมั่นที่จะลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง โดยเป้าหมายเรื่องระยะเวลาอาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะสั้น (Short-term Goal) คือ ต้องการให้สำเร็จภายใน 1 ปี
- ระยะปานกลาง (Intermediate-term Goal) คือ ต้องการให้สำเร็จภายใน 2-5 ปี
- ระยะยาว (Long-term Goal) คือ ต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 5 ปี
ยกตัวอย่าง เป้าหมายระยะปานกลางคือ ต้องการมีเงินดาวน์คอนโดมิเนียม จำนวน 250,000 บาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีเงินออม 50,000 บาท มีความสามารถในการออม/ลงทุน 5,000 บาท/เดือน เมื่อคำนวณแล้วพบว่า จะต้องนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนประมาณ 4-5%
เมื่อได้ข้อมูลมาดังนี้ จึงนำมาพิจารณาต่อว่า เราสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน และมีความสามารถในการหาวิธีการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน 4-5% หรือไม่ หากเรารับความเสี่ยงได้ปานกลาง และรู้จักการลงทุนในกองทุนรวมจะพบว่า กรณีนี้สามารถเลือกลงทุนในกองทุนแบบผสมได้ เป็นต้น
การกำหนดเป้าหมายตามหลัก S-M-A-R-T ช่วยให้สามารถกำหนดทิศทางในการสร้างแผนปฎิบัติทางการเงิน (Financial Action Plan) แต่แผนทางการเงินนั้นจะสำเร็จได้ต้องลงมือทำ