ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “การเข้าอยู่อาศัยห้องชุดคอนโดมิเนียมจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้า” ซึ่งจัดทำโดย จิตติมา ดำมี และคุณทิพย์ ตรงธรรมกิจ โดยงานศึกษานี้ได้ใช้ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าของมิเตอร์รายเดือน มาจัดทำเป็นเครื่องชี้อัตราการอยู่อาศัย ได้ข้อสรุปว่า ข้อมูลไฟฟ้ามีศักยภาพนำมาใช้เป็นเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ เพื่อประเมินภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้จริง และเมื่อใช้ข้อมูลไฟฟ้าผสมผสานกับเครื่องชี้อื่น ยิ่งช่วยให้การวิเคราะห์ถูกต้อง ครอบคลุม และรอบด้านมากขึ้น
สำหรับประเด็นที่สรุปได้คือ ภาพรวมอุปสงค์การซื้ออาคารชุดเพื่ออยู่อาศัยจริงอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากเครื่องชี้อัตราการอยู่อาศัยจากข้อมูลไฟฟ้าของอาคารชุดในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ พบว่า มีผู้เข้าอยู่อาศัยสูงกว่า 70% แม้บางพื้นที่มีอัตราอยู่อาศัยต่ำ ขณะที่ห้องชุดใหม่ที่เปิดตั้งแต่ปี 2013-2017 มีทิศทางการอยู่อาศัยดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนห้องชุดที่เปิดก่อนปี 2012 แม้การอยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราการอยู่อาศัยยังสูง อยู่ที่ 80-85%
นอกจากนี้ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ซื้อห้องชุดเพียงห้องเดียว สะท้อนได้ว่าผู้ใช้ไฟดังกล่าว ส่วนใหญ่มีอุปสงค์ในอาคารชุดเพื่อการอยู่อาศัยจริง และเมื่อพิจารณาร่วมกับเครื่องชี้อื่นที่ ธปท. ติดตามอยู่เป็นประจำ พบว่า ภาพรวมข้อมูลอุปทานคงค้าง และข้อมูลระยะเวลาขายหมดมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับทิศทางการอยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ห้องชุดที่การเข้าอยู่อาศัยมีระดับต่ำหรือว่างเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เป็นห้องชุดราคาต่ำถึงปานกลางของผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง อาจเป็นเพราะซื้อเพื่อลงทุนหรือสะสมความมั่งคั่ง แต่จำนวนห้องกลุ่มนี้มีไม่มากนัก