ตามติดชีวิตแรงงาน 20 ปีข้างหน้า

ตามติดชีวิตแรงงาน 20 ปีข้างหน้า

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

เราได้ยินกันหนาหูขึ้นทุกวันว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานคน โดยเฉพาะงานประเภทที่ทำซ้ำๆ ทุกวันหรือแม้แต่งานผู้บริหารก็ไม่เว้น ซึ่งทำให้คนทำงานจำนวนหนึ่งอดกังวลไม่ได้ว่า แล้วอนาคตตัวเองจะเป็นเช่นไร

เมื่อไม่นานมานี้ สภาเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม) ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับอนาคตแรงงาน 20 ปีข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเนื้อหานั้นก็มาตอบประเด็นความกังวลของคนทำงานได้ดี

สภาเศรษฐกิจโลกสะท้อนว่า วันนี้เราใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยหุ่นยนต์และเต็มไปด้วยงาน จำนวนหุ่นยนต์ที่ทำงานนั้นไต่ระดับทำสถิติใหม่อยู่ตลอด ขณะที่อัตราการว่างงานในโลกเมื่อปี 2018 จากรายงานเมื่อเดือน ธ.ค. 2018 ลดไปอยู่ที่ 5.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปี

นี่เป็นหนึ่งสิ่งที่สะท้อนว่า ท่ามกลางการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานก็สูงขึ้นเช่นกัน จึงไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีจะแย่งงานของคนไป เพียงแต่หากเชื่อมโยงการจ้างงานและเทคโนโลยี ก็เชื่อว่าเทคโนโลยีจะทำให้คนเข้าถึงงานได้มากขึ้น โดยที่การทำงานจะมีความยืดหยุ่นและเป็นอิสระมากขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้สภาเศรษฐกิจโลกสรุป 5 ประเด็นสำคัญที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องงาน ประกอบด้วย

  1. ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และหุ่นยนต์ (โรโบติก) จะมาช่วยสร้างงานมากขึ้น ไม่ได้ทำให้งานลดลง
  2. จะไม่เกิดการขาดแคลนงาน ยกเว้นว่าเราเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องก็จะมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเพื่อจะไปเติมเต็มในงานเหล่านั้น
  3. การทำงานจากระยะไกลจะกลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเมืองต่างๆ จะต้องเผชิญกับสงครามการแย่งชิงบุคลากรที่มีความสามารถในอนาคต เพราะการทำงานที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ทำให้คนเป็นอิสระในการใช้ชีวิตในที่ที่ต้องการ ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ใหม่ๆ ทำให้เมืองใหญ่ เมืองหลวงต่างๆ ต้องพยายามแข่งขันดึงดูดกำลังแรงงานที่ทำงานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่นี้
  4. แรงงานกลุ่มหลักๆ จะเป็นคนทำงานอิสระ (ฟรีแลนซ์) ภายในปี 2027 เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มอัตราการจ้างงานฟรีแลนซ์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
  5. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะทำให้การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของการใช้ชีวิตที่ควรทำเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและครอบคลุมที่สุด

จาก 5 ปัจจัยสำคัญที่เราจะได้เห็นนี้ ทำให้สภาเศรษฐกิจโลกแนะนำแนวทาง 3 ประการที่ควรเกิดขึ้น ได้แก่

  1. การคิดใหม่เรื่องการศึกษา – เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว หมายความว่าคนจะต้องเข้าไปใช้เครื่องมือใหม่ๆ ให้เป็น จึงต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบการศึกษาในปัจจัยปรับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ไม่สอดรับกับโลกใหม่ ดังนั้นจึงควรต้องปรับระบบการศึกษาเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยต้องปรับตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลกันเลย
  2. เปลี่ยนแปลงระบบคุ้มครองแรงงาน – ภาษี สุขภาพ ประกันการว่างงาน และระบบรองรับการเกษียณอายุถูกสร้างขึ้นมาในยุคอุตสาหกรรม แต่ระบบเหล่านี้จะไม่สามารถดูแลได้ครอบคลุมทุกคนในอนาคตถ้าเราไม่สามารถปฏิรูประบบได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะที่ผ่านมาระบบถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานการจ้างแรงงานกลุ่มใหญ่ แต่สิ่งเหล่านี้จะต้องปรับเปลี่ยนตามแนวโน้มการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการเน้นปกป้องแรงงานที่มีสถานะการทำงานแบบเต็มเวลาเป็นการมองหาประโยชน์ให้สอดคล้องกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแรงงานที่ทำงานแบบยืดหยุ่นกำลังเติบโตในโลกใบนี้ โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการนำเสนอผลประโยชน์ให้สอดคล้องกับการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น Edtech ที่นำเสนอแนวทางการฝึกอบรมต้นทุนต่ำที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยผู้มีส่วนร่วม เป็นต้น
  3. การจัดหาบุคลากรที่มีอิสระและยืดหยุ่นขึ้น – ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจทำให้คนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วยการเปิดกว้างให้คนทำงานระยะไกล ให้เวลาทำงานยืดหยุ่นขึ้น เน้นการทำงานในสำนักงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้โอกาสคนได้ทำงานที่บ้าน หรือจัดตารางเวลาการทำงานด้วยตัวเขาเอง รวมถึงใช้แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ทำงาน

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของแนวโน้มตลาดแรงงานในอนาคต ที่องค์กรต้องเน้นเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนารวดเร็วให้เป็นประโยชน์ ส่วนคนทำงานก็ไม่ต้องกลัวตกงานเพราะถูกหุ่นยนต์แย่งงานไป ขอแค่เป็นคนที่รู้จักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับตัวให้มีทักษะใหม่ๆ สอดคล้องกับที่ตลาดต้องการตลอดเวลา แค่นี้ก็อยู่รอดปลอดภัยได้ในตลาดงานตลอด 20 ปีข้างหน้าแล้ว

ที่มา : https://www.weforum.org/agenda/2019/01/jobs-of-next-20-years-how-to-prepare/