สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์จัดตั้ง “กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” รองรับการยกเว้นภาษีการลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมดังกล่าว ช่วยส่งเสริมการออมเงินเพื่อเกษียณอายุของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สืบเนื่องจากกรมสรรพากรอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2018 และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับกลางปี 2019 ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมมีภาระภาษีตามไปด้วย ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหากลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงยังคงได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน กระทรวงการคลังจะเสนอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ “กองทุนรวม” ที่มีผู้ถือหน่วยเฉพาะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว ก.ล.ต. มีแผนที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อรองรับกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีข้อกำหนด อาทิ ผู้ถือหน่วยต้องเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น ยกเว้นจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนขั้นต่ำที่กำหนดไว้อย่างน้อย 35 ราย ไม่เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) การรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนสามารถใช้หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินแทนเงินสดได้
อนึ่ง ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th/hearing ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรสาร 0-2033-9660 หรือทาง e-mail sumitra@sec.or.th จนถึงวันที่ 22 ก.พ.นี้