สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศเม็กซิโกพยายามสนับสนุนครอบครัวเม็กซิกันที่อาศัยอยู่ต่างแดนส่งเงินกลับบ้านให้ครอบครัวในเม็กซิโก โดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค เพื่อลดต้นทุนการส่งเงิน ทั้งยังหวังว่า ธนาคารและผู้ให้บริการ เช่น เวสเทิร์น ยูเนียน จะลดค่าคอมมิชชั่นและปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนที่คิด
Arturo Herrera รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เม็กซิโก กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีแผนออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงิน เพราะเงินต่างประเทศเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่เลี้ยงชีวิตคนในครอบครัวที่ยากจนกว่า 1 ล้านครอบครัว โดยการใช้วิธีโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนส่งเงินมาเม็กซิโกได้ ซึ่งปัจจุบันค่าคอมมิชชัน และอัตราแลกเปลี่ยนเป็นต้นทุนสำคัญของการส่งเงิน หรือคิดเป็น 8% ของเงินที่ส่ง แต่ มองว่า จะลดเหลือ 5% ได้
“ต้นทุนการโอนเงินควรลดลง 40% ซึ่งฟินเทคเป็นช่องทางที่ทำได้มากกว่าธนาคารดั้งเดิม เพราะสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เป็นช่องทางตรงส่งเงิน และยังลดต้นทุนได้ด้วย จึงใช้เป็นแนวทางนำไปสู่การลดค่าคอมมิชชันได้”
Andres Manuel Lopez Obrador ประธานาธิบดีเม็กซิโก ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2018 กล่าวว่า เขาต้องการต่อสู้กับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการลดต้นทุนทางการเงิน เช่น การส่งเงินกลับเข้าประเทศ เป็นหนึ่งในหนทางที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของคนในชาติได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาต้นทุนด้านธนาคารเป็นประเด็นอ่อนไหวของเม็กซิโก หลังเข้ามารับตำแหน่งปลายปีที่แล้ว เขาประกาศจะจำกัดค่าธรรมเนียมของธนาคาร ส่งผลให้เกิดการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นเขาก็ถอยห่างจากแนวทางนี้ไป
ทั้งนี้ รัฐบาลเม็กซิโก ระบุว่า มีคนเม็กซิกัน 24 ล้านคนที่อาศัยในสหรัฐ ถือเป็นแหล่งเงินสำคัญที่ส่งกลับมาเม็กซิโก จากข้อมูลของธนาคารกลางเม็กซิโก ชี้ว่า ปีที่ผ่านมาคนเม็กซิกัน ส่งเงินกลับประเทศสูงถึง 33,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.5% จากปี 2017 ขณะที่ ข้อมูลจากแพลตฟอร์มฟินเทคที่ชื่อ Finnovista ระบุว่า เม็กซิโกมีสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านการชำระเงินและส่งเงินกลับประเทศ 75 ราย ซึ่งขณะนี้แอปพลิเคชันรองรับการโอนเงินกลับประเทศ เช่น Remitly และ Xoom กำลังเป็นที่นิยมมาก ทำให้เชื่อว่า ธนาคารและเวสเทิร์น ยูเนียนจะออกบริการที่ราคาถูกลงเพื่อแข่งขันกับแอปโอนเงินเหล่านี้