เดอะ จาการ์ต้าโพสต์ รายงานว่า ปีนี้จะได้เห็นกลุ่มทุนจากต่างชาติเข้ามาควบรวมกิจการกลุ่มสถาบันการเงินในอินโดนีเซียมากขึ้น โดยกลุ่มทุนหลักๆ จะมาจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เริ่มเข้ามาซื้อกิจการธนาคารท้องถิ่นแล้ว
ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ให้บริการในอินโดนีเซีย 115 ราย ลดลงจากปี 2015 ที่มี 118 ราย โดยจำนวนธนาคารพาณิชย์ลดลงแล้วก็จริง แต่หน่วยงานกำกับของอินโดนีเซีย ระบุว่า จำนวนที่มีอยู่ยังถือว่ามาก และจัดได้ว่ามีจำนวนธนาคารพาณิชย์มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการที่จำนวนธนาคารพาณิชย์มีมาก ทำให้เกิดความยากลำบากต่อหน่วยงานกำกับ ที่จะส่งผ่านนโยบายต่างๆ มาจากระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศ และปัจจุบันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมีมากขึ้น เช่น ตลาดการเงินโลกที่คาดเดาได้ยากขึ้น ดังนั้นเพื่อเร่งการรวมธนาคาร หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินของอินโดนีเซียจึงอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในธนาคารท้องถิ่นของอินโดนีเซียได้มากกว่า 40%
ทั้งนี้ ยักษ์ใหญ่ด้านบริการการเงินในญี่ปุ่น มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป พยายามเข้ามาหาโอกาสในอินโดนีเซียในการก่อตั้งบริษัทย่อย MUFG ในอินโดนีเซีย มีเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารปล่อยกู้ภาคเอกชนอินโดนีเซีย Danamon เป็นมากกว่า 73.8% เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจที่อินโดนีเซีย โดย Yasushi Itagaki ผู้อำนวยการ กลยุท์โลก ของธนาคาร Danamon กล่าวว่า เหตุผลที่ MUFG รุกหนักในการซื้อกิจการธนาคารในท้องถิ่น เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจให้ลงทุน จากการที่จำนวนชนชั้นกลางในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และยังมีสัดส่วนการเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์น้อยอยู่
สำหรับ MUFG ไม่ได้ถือหุ้นในธนาคารดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังถือหุ้นในธนาคารขนาดเล็ก Nusantara Parahyangan หรือ BNP ด้วย ซึ่งในอนาคตก็จะควบรวมธนาคารนี้กับธนาคาร Danamon ขณะที่ทุนญี่ปุ่นอื่น เช่น ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ก็มีการซื้อหุ้นเพิ่มในธนาคาร Tabungan Pensiunan Negara (BTPN) โดยในอนาคตจะถูกควบรวมเข้ากับธนาคารซูมิโตโม มิตซุย อินโดนีเซีย (SMBCI) บริษัทย่อยในอินโดนีเซีย ส่วนทุนเกาหลีใต้ก็รุกลงทุนในธนาคารอินโดนีเซีย เช่น บริษัททางการเงินเกาหลีใต้อย่าง Apro เข้ามาถือหุ้น 77% ในธนาคารขนาดเล็กอินโดนีเซียชื่อ Dinar ปีที่ผ่านมา โดยที่ Apro ถือหุ้นในธนาคารขนาดเล็กชื่อ Oke ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้จะถูกควบรวมกันวันที่ 2 พ.ค. นี้