BF Economic Research
โดยฐนิตา ตุมราศวิน และรมณ ไชยวรรณ Macro Analyst
- ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งขึ้น โดยคาดว่าประเทศทั้งสองน่าจะได้รัฐบาลโฉมหน้าเดิม
- นโยบายของรัฐบาลในช่วงก่อนการเลือกตั้งจะส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้น และหนุนการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้คึกคัก อีกทั้งความแข็งแกร่งดังกล่าวจะยังคงมีแนวโน้มดำเนินต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง จากความต่อเนื่องในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดเดิม ผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่ได้มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้
- นอกจากนี้ จะเป็นการช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจ โดยในปี 2019 นี้ อาเซียนยังมีความท้าทายจากกระแสเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศอาเซียน
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 นอกจากการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็จะมีการเลือกตั้งเช่นกัน ส่วนสิงคโปร์นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะยุบสภา และจัดการเลือกตั้งก่อนหมดสมัยในเดือนมกราคม 2021 ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลในช่วงก่อนการเลือกตั้งมักจะส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้น และหนุนการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้คึกคัก ซึ่งจะก่อให้เกิดการเร่งตัวขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ และเป็นการช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจ โดยในปี 2019 นี้ อาเซียนยังมีความท้าทายจากกระแสเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศอาเซียน
เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
- ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด น่าจะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้ได้
อินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 17 เม.ย. ที่จะถึงนี้ โดยความนิยมในตัวประธานาธิบดีโจโค วิโดโด จากพรรคประชาธิปไตยแห่งการต่อสู้ของอินโดนีเซีย (Indonesian Democratic Party of Struggle) ยังคงความนิยมอยู่โดยเห็นได้จากโพลจากหลายสำนักที่ระบุว่า นายโจโควีมีคะแนนนำกว่า 50% ทิ้งห่าง พล.ท. ปราโบโว สุบิยันโต จากพรรคเกรินดา (Gerindra) ถึง 20% โดย พล.ท. ปราโบโวเป็นคู่แข่งคนเดิมเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และยังเป็นอดีตบุตรเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต อดีตผู้นำอินโดนีเซียที่ครองอำนาจยาวนานถึง 32 ปี โดยการแข่งขันในครั้งนี้ได้เน้นหนักไปที่ประเด็นทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย
นับตั้งแต่โจโควีก้าวสู่ตำแหน่งในปี 2014 จะเห็นได้ว่านโยบายของรัฐบาลได้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยในช่วงระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา (2015-2019) รัฐบาลภายใต้การนำของโจโควี ได้ใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปกว่า 1,805 ล้านล้าน
รูเปียะห์ ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของงบประมาณก่อนหน้าสมัยของโจโควีกว่า 10 ปี (2005-2014) รวมกัน ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าวอินโดนีเซียมีการก่อสร้างถนนเป็นระยะทางกว่า 782 กิโลเมตร เกือบเท่ากับระยะทางถนนของอินโดนีเซียที่ก่อสร้างมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ก่อนมีรัฐบาลนี้ ซึ่งแม้นโยบายของโจโควีส่งผลต่อการพัฒนาของอินโดนีเซีย แต่ก็ตกเป็นประเด็นวิพากวิจารณ์จากฝ่ายค้านว่า รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณมากเกินไป จนอาจทำให้ในอนาคตอินโดนีเซียอาจประสบปัญหาทางด้านการคลังได้
อีกทั้งในปี 2018 ที่ผ่านมา รัฐบาลยังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ จากการที่ค่าเงินรูเปียะห์อ่อนค่าลงมาก จากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการขาดดุลการค้า แต่รัฐบาลก็ได้มีความพยายามในการดำเนินการต่างๆ ทั้งนโยบายการเงินผ่านการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการกำหนดนโยบายเพื่อชะลอการนำเข้าสินค้าเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า ส่งผลให้ค่าเงินรูเปียะห์กลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นในขณะนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความระมัดระวังทางด้านการคลัง โดยการตั้งเป้าการขาดดุลงบประมาณในปี 2019 ให้ต่ำกว่า 2% ของ GDP อีกด้วย
ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่กำลังจะใกล้เข้ามานี้ หากไม่พลิกความคาดหมาย โจโควีจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีก 1 สมัย โดยการที่อินโดนีเซียน่าจะได้รัฐบาลโฉมหน้าเดิม จึงคาดว่าแนวทางในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะสอดคล้องกับแนวนโยบายที่โจโควีได้กำหนดผ่านงบประมาณปี 2019 ซึ่งเพิ่งประกาศออกมาไม่นานนี้
อย่างไรก็ดี เส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีของโจโควีอาจมีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากแม้ว่าผลการสำรวจคะแนนนิยมของโจโควียังคงนำโด่ง แต่ทว่าการแข่งขันในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (DPR) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน จึงยังมีความไม่แน่นอนว่าการเลือกตั้งในวันดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อรูปแบบการลงคะแนนหรือพันธมิตรทางการเมืองอย่างไร โดยหากผลการเลือกตั้งพลิกความคาดหมาย ก็จะก่อให้เกิดประเด็นท้าทายต่อตลาดซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
- งบประมาณปี 2019 เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะด้านการศึกษา
รัฐบาลภายใต้การนำของนายโจโควีมีแนวโน้มใช้ความระมัดระวังทางการคลังมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการตั้งเป้างบประมาณขาดดุลประจำปี 2019 ไว้ที่ -1.84% ต่อ GDP ที่แม้ว่าจะขาดดุลเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่ -1.76% ต่อ GDP แต่ยังคงต่ำกว่าการขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 2.34% ของ GDP ในระหว่างปี 2012-2017 ที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลถึงสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2019 ซึ่งแม้จะมีการคาดการณ์ว่า จะยังมีโมเมนตัมการเติบโตที่ต่อเนื่อง แต่อาจต้องเผชิญแรงกดดันหลายประการอย่างทิศทางเศรษฐกิจในตลาดโลก รวมถึงรายได้จากภาษีที่ต้องพึ่งพาภาษีภายในประเทศเป็นหลักมีแนวโน้มลดลงในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2019 แล้วจะพบว่า รัฐบาลเน้นการจัดสรรงบประมาณลงไปยังกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์กว่า 783 ล้านล้านรูเปียะห์ เพิ่มขึ้นจากปี 2018 กว่า 13.8% และคิดเป็น 31.8% ของงบประมาณปี 2019 ทั้งหมด ประกอบไปด้วยการพัฒนาทางด้านการศึกษา การประกันสุขภาพ และการบริการช่วยเหลือทางด้านสังคม โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาที่คิดเป็นกว่า 62.3% ของงบประมาณด้านทรัพยากรมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งหลักๆ จะเน้นไปที่โครงการ “Indonesia Pintar” ซึ่งเป็นการช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่นักเรียนที่มีฐานะทางบ้านยากจนให้สามารถเรียนหนังสือได้ โดยนอกจากงบประมาณช่วยเหลือทางด้านการศึกษาแล้ว เด็กนักเรียนจะได้รับเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวผ่านสมาร์ทการ์ด (PIP) มูลค่าตั้งแต่ 450,000-1,000,000 รูเปียะห์ต่อคนต่อปีขึ้นกับระดับชั้น นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตได้ว่าโจโควีได้เพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย (Cash handouts) เป็น 34.3 ล้านล้านรูเปียะห์ ในปี 2019 คิดเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจะมีครอบครัวชาวอินโดนีเซียกว่า 10 ล้านครอบครัว ได้รับเงินสนับสนุนครอบครัวละประมาณ 4,000,000 รูเปียะห์
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแนวทางของรัฐบาลโจโควีเน้นนโยบายประชานิยม สะท้อนถึงเม็ดเงินที่จะสะพัดในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งอินโดนีเซีย ซึ่งน่าจะเป็นแรงกระตุ้นไปยังภาคการบริโภคเอกชนภายในประเทศได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดัง จะเห็นได้จากงบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังมีโมเมนตัมการเติบโตและมากเป็นอันดับสองรองจากงบลงทุนในการศึกษาอีกด้วย
เลือกตั้งกลางเทอมฟิลิปปินส์เลือกตั้งกลางเทอมฟิลิปปินส์
- ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต้ยังคงได้รับความนิยมจากชาวฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งกลางสมัยในวันที่ 13 พ.ค. 2019 เพื่อสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 12 ที่นั่ง จาก 24 ที่นั่งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมด 297 ที่นั่ง โดยคาดว่า พรรคพีดีพี ลาบัน (PDP LABAN) ของดูแตร์เต้จะยังจะคงครองที่นั่งในสภาไว้ได้ โดยหลังจากดูแตร์เต้ ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปี 2016 ผู้นำจากเกาะมินดาเนาก็ได้รับกระแสตอบรับทั้งด้านบวกและลบอย่างต่อเนื่อง จากท่าทีผู้นำที่มีความแข็งกร้าวและใช้นโนบายที่มีความเด็ดขาด โดยการประกาศสงครามกับยาเสพติด ที่แม้ว่าจะเป็นที่พอใจของชาวฟิลิปปินส์แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาประเทศ
นอกจากนี้ ในปี 2018 ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ยังเผชิญความท้าทายจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จากมาตรการปฏิรูปทางภาษี (Tax Reform for Inclusion and Acceleration: TRAIN) โดยการเพิ่มภาษีสรรพสามิต เพื่อจัดเก็บรายได้และนำไปจัดสรรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานผ่านนโยบาย Build Build Build อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวก็ได้ผ่านพ้นไปแล้วภายหลังความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ. ได้ลดลงมาสู่กรอบของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อีกทั้ง เศรษฐกิจภายใต้การนำของดูแตร์เต้ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมายังคงมีโมเมนตัมในการเติบโตที่ดี จากแรงหนุนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภคภายในประเทศ โดย GDP ในปี 2017-2018 ขยายตัวที่ 6.7% และ 6.3% ตามลำดับ นับเป็นการขยายตัวที่ดีที่เป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองเพียงเวียดนามเท่านั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันความนิยมของชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อประธานาธิบดีดูแตร์เต้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจากผลการสำรวจล่าสุดของ Pulse Asia ในเดือนธ.ค. 2018 คะแนนนิยมของดูแตร์เต้เพิ่มขึ้นเป็น 81% จาก 75% ในการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนก.ย. 2018 อีกทั้ง ผลสำรวจรายชื่อผู้ลงชิงชัยสมาชิกวุฒิสภาที่มีคะแนนนิยมสูงที่สุด 15 อันดับแรก ยังปรากฏรายชื่อผู้ที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองกับดูแตร์เต้ถึง 9 คน ดังนั้น จึงคาดว่า ในระยะข้างหน้านี้ ดูแตร์เต้จะสามารถบริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่องตามแนวทางที่ได้วางเอาไว้ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของดูแตร์เต้ ได้ผ่านร่างงบประมาณประจำปี 2019 ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- งบประมาณปี 2019 เน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบาย Build Build Build
สภาคองเกรสแห่งฟิลิปปินส์อนุมัติงบประมาณประจำปี 2019 ที่ 3.757 ล้านล้านเปโซฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมา 13% เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในสัดส่วนที่สูงที่สุดคิดเป็น 24.2 % ของงบประมาณทั้งหมด โดยมีมูลค่า 909,700 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ หรือคิดเป็น 4.7% ของ GDP รองลงมาคือ งบประมาณที่สนับสนุนภาคการศึกษา คิดเป็น 17.5% ของงบประมาณทั้งหมด หรือมีมูลค่า กว่า 659,300 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ หรือคิดเป็น 3.0% ของ GDP สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นเน้นไปยังถนนและสะพาน
รวมถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ตามโปรแกรม Build Build Build ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อภาคการก่อสร้าง ก่อให้เกิดการจ้างงานในฟิลิปปินส์ สำหรับงบสนับสนุนภาคการศึกษานั้น ประกอบไปด้วยการก่อสร้างห้องเรียน และการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้นๆ นอกจากนี้ การเพิ่มตำแหน่งและบรรจุข้าราชการครู รวมถึงการมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียน จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อภายในประเทศของฟิลิปปินส์อีกด้วย
โดยสรุป การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งดังกล่าว จะยังคงมีแนวโน้มดำเนินต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง จากความต่อเนื่องในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดเดิม ผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่ได้มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้