BF Economic Research
รัฐสภาอังกฤษจะลงมติต่อข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐสภาลงมติปฏิเสธข้อตกลง Brexit ฉบับเดิมที่นางเทเรซา เมย์เสนอ อย่างถล่มทลายด้วยคะแนนเสียง 432 ต่อ 202 ทั้งนี้ หากรัฐสภาลงมติปฏิเสธข้อตกลง Brexit ของนางเทเรซา เมย์อีกครั้ง ขั้นถัดไป รัฐสภาจะต้องลงมติเลือกระหว่างการแยกตัวออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง (No-Deal Brexit) ซึ่งจะส่งผลกระทบมากที่สุด หรือลงมติให้ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวจากเดิมตามมาตรา 50 ที่วันที่ 29 มี.ค.
ด้านการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ของอังกฤษและสหภาพยุโรป (อียู) กำลังเจรจากันเพื่อแก้ไขข้อตกลง Brexit เดิมที่นางเทเรซา เมย์เสนอรัฐสภาครั้งก่อน แต่การเจรจาไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด แม้อังกฤษจะออกมาเรียกร้องให้อียูยอมตกลงกับสัญญาฉบับใหม่ โดยชี้ให้เห็นว่าการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรโดยปราศจากข้อตกลงใดๆ จะส่งผลเชิงลบกับอียูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กองทุนบัวหลวงมองว่า สุดท้ายแล้วรัฐสภาอังกฤษจะลงมติให้เลื่อนกำหนดเวลาการแยกตัวออกจากอียูออกไป เนื่องจากทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกันถึงผลกระทบของ No-Deal Brexit ที่จะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและอียูชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยประเด็นที่ทำให้การตกลงไม่มีข้อสรุป คือประเด็นเกี่ยวกับการจัดการชายแดนระหว่างไอร์แลนด์ที่เป็นของอียู และไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร เนื่องจากการกั้นพรมแดน หรือที่เรียกว่า Hard Border จะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในไอร์แลนด์อีกครั้งหลังมีการลงนามในสัญญาสงบศึกนับตั้งแต่ปี 1998 อย่างไรก็ตาม การไม่มีพรมแดนระหว่างกันก็เป็นไปได้ยากหลัง Brexit เนื่องจากสหราชอาณาจักรต้องมีการตรวจและเสียภาษีศุลกากรเมื่อนำเข้าส่งออกสินค้ากับอียู