สภาอังกฤษเลื่อนกำหนดการออกจากอียูตามคาด แต่หากนานกว่า 3 เดือน อาจทำให้ถูกบังคับเข้าร่วมการเลือกตั้งสภายุโรป

สภาอังกฤษเลื่อนกำหนดการออกจากอียูตามคาด แต่หากนานกว่า 3 เดือน อาจทำให้ถูกบังคับเข้าร่วมการเลือกตั้งสภายุโรป

BF Economic Research

หลังจากรัฐสภาอังกฤษได้ลงมติคว่ำข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรืออียู (Brexit) ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภาก็ได้ลงมติอีก 2 ประเด็นในวันที่ 13 และ 14 มี.ค. โดยได้ผลสรุปว่าสหราชอาณาจักรจะไม่แยกตัวจากอียู โดยไร้ข้อตกลง (No-Deal Brexit) และจะเลื่อนกำหนดการออกจากอียูออกไปจากเดิมที่ 29 มี.ค. ซึ่งเรามองว่า อียูจะเห็นชอบกับการเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องการจะหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่จะเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้นยังไม่ได้มีการตกลงกัน นอกจากนี้ ในวันเดียวกันรัฐสภายังได้ลงมติคัดค้านการทำประชามติรอบ 2 ด้วย

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญหลังจากนี้ที่ทำให้การออกจากอียูของสหราชอาณาจักรดูจะซับซ้อนมากขึ้น คือ การเลือกตั้งของรัฐสภายุโรปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23-26 พ.ค. นี้ โดยหากทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะเลื่อนกำหนดการแยกตัวออกจากอียูไปอีก 3 เดือนก็จะไม่เป็นปัญหา เนื่องจากพิธีสาบานตนรับตำแหน่งรัฐสภายุโรปจะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.ค. 2019 ซึ่ง ณ เวลานั้น สหราชอาณาจักรได้ออกจากอียูไปแล้ว แต่ถ้าหากเลื่อนออกไปนานกว่า 3 เดือนอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ สหราชอาณาจักร และทำให้ต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสภายุโรปในวันที่ 23-26 พ.ค. ดังนั้น ในเวลาที่เหลือ นางเทเรซา เมย์ต้องพยายามโน้มน้าวให้ส.ส. ในสภาเลิกลงมติคว่ำข้อตกลงฉบับล่าสุดที่เมย์ไปเจรจามากับอียู