อะไรในชีวิตก็มีขึ้นมีลง…แล้วเราจะจัดการเงินของเรายังไงดี?
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
ชีวิตของคนเราก็ล้วนแล้วแต่มีขึ้นมีลง เวลามันขึ้นอะไรๆ ก็เหมือนจะลื่นไหลดูดีไปหมด แต่เวลามันสะดุดที แม้ว่าเราจะทำอะไรมันก็ดูยากเสียนี่กระไร บางครั้งในชีวิตไม่เคยคิดอยากจะออกจากงานที่รัก แต่จู่ๆ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้จำใจต้องออก เพราะบริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ หรือใครที่เป็นเจ้าของกิจการก็อาจต้องเจอศึกหนัก เพราะโลกเปลี่ยนไป วิถีการใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิม ต้องหยุดกิจการเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจที่ทำใหม่ครั้งใหญ่ หรือบางคนด้วยภาวะที่รุมเร้า เครียดหนักจนทนไม่ไหว อยากจะหยุดมาพักผ่อนให้สบายใจกันบ้าง แต่เพื่อไม่ให้เราต้องมาวิตกกันในภายหลัง ก่อนทำอะไรแนะนำให้หันมาจัดการเงินของเราก่อน ดังนี้
เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เคยมีเก็บไว้บ้างไหม ลองดูเงินที่สะสมมาทั้งหมดว่ามีเท่าไหร่ สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้นานเท่าไหร่ หากลองดูแล้วอยู่ได้น้อยกว่า 3 เดือน ต้องรีบสะสมเงินสำรองด่วน ก่อนที่จะหยุดทำงาน แต่ถ้าหากหยุดทำงานไปแล้ว คงต้องรีบหางานใหม่ และลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลงอย่างเร่งด่วน เพื่อต่ออายุการใช้เงินออกไป
เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีไหม ถ้ามีต้องดูว่า เราจะสามารถคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไหวไหม ถ้าคิดว่าไม่ไหว ลองกลับมาดูว่าอายุงานถึง 5 ปีหรือเปล่า หากอายุงานถึง 5 ปี สามารถนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และใช้วิธียื่นใบแนบได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถประหยัดภาษีลงได้อีก เพราะมีวิธีการคำนวณโดยใช้ 7,000 คูณ อายุงาน ได้เท่าไหร่ นำไปหักออกจากเงิน 3 ส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ผลประโยชน์เงินสะสม + เงินสมทบจากบริษัท+ผลประโยชน์เงินสมทบจากบริษัท) เมื่อหักออกแล้วคงเหลือเท่าไหร่ สามารถหักออกได้อีก 50% แล้วจึงนำมาคำนวณตามฐานภาษี โดย 150,000 บาทแรกในใบแนบจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี เงินส่วนนี้หากเกิดเหตุการณ์จำเป็นออกจากงานแบบฉุกเฉินก็สามารถนำมาใช้จ่ายได้ แต่หากสามารถเก็บออมต่อได้จะดีที่สุดเพราะจะเป็นเงินรองรังให้กับเราในยามเกษียณ
กองทุนประกันสังคม ในกรณีที่เราถูกเลิกจ้าง จะได้เงิน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน) สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท/ เดือน หรือในกรณีลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาการจ้างได้ 30% ของค่าจ้างเฉลี่ยไม่เกิน 90 วัน (3 เดือน) สูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท/เดือน
ทั้งนี้ ต้องขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน ซึ่งเงินจำนวนนี้เปรียบเสมือนกับเป็นเงินที่ช่วยให้เราพยุงตัวในช่วงหางานใหม่ แม้เงินที่ได้จะไม่เยอะมาก แต่ก็ช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายสำคัญได้ อย่างเช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
ในกรณีเจ็บป่วย สามารถใช้สิทธิกองทุนประกันสังคมได้อีก 90 วัน (ในช่วงระหว่างหางาน)
วันลาพักผ่อน ยังมีเหลือบ้างไหม หากสามารถแลกวันลาเป็นเงินได้ จะช่วยได้บ้าง แต่ถ้าไม่ได้เลยก็ยังคงทำวันลาให้เกิดรายได้โดยการหารายได้พิเศษ หาสิ่งที่ตัวเองรัก อย่ามัวแต่ลาหยุด ลาป่วย ใช้จนหมด หรือลาเกินจนเป็นเหตุให้ถูกหักเงิน เพราะนอกจากจะได้เงินไม่ครบแล้ว ยังทำให้ประวัติการทำงานไม่ดีอีกด้วย
ขอหนังสือรับรองการทำงาน เอกสารรับรองรายได้ เผื่ออนาคตต้องการใช้จะได้ใช้อ้างอิงได้ว่าเคยทำงานที่ไหนมา
ระหว่างนี้ แนะนำให้ผ่อนคลาย ถือว่าเป็นช่วงหยุดยาวๆ แต่ก่อนคิดจะหยุดยาว ควรจัดทำ Resume ส่งไปยังบริษัทที่เราต้องการร่วมงานด้วยก่อน เพราะกว่าบริษัทจะพิจารณาเชิญสัมภาษณ์ อาจต้องใช้เวลา อาจจะทำให้ช่วงเวลาพักผ่อนของเรานานเกินกว่าจะรอได้
ทำงานไม่เลือก จะเป็นอีกวิธีที่ทำให้ระหว่างรองานที่รัก ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ และมีรายได้เข้ามาช่วยพยุงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย
ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว เราต้องตามโลกให้ทัน การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้เราทันโลก ทันสมัยตลอดเวลา และสามารถอยู่กับโลกปัจจุบันได้