(ซีรีส์ ตอนที่ 4) กองทุน BKIND กับภารกิจ “การลงทุนเพื่อสังคม”

(ซีรีส์ ตอนที่ 4) กองทุน BKIND กับภารกิจ “การลงทุนเพื่อสังคม”

ตอน: โครงการพัฒนาหลักสูตรและระบบการแนะแนวอาชีพ สำหรับนักเรียนที่มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์เพื่อค้นพบตัวเอง

เด็กในวันนี้ คือ อนาคตของชาติในวันข้างหน้า การลงทุนกับอนาคตของชาติ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้ กองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) จึงเลือกเข้าไปสนับสนุนโครงการพัฒนาหลักสูตรและระบบการแนะแนวอาชีพ สำหรับนักเรียนที่มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์เพื่อค้นพบตัวเอง ที่ดำเนินการโดย บริษัท อาชีพ โซเชียล เอนเทอไพรส์ จำกัด

โครงการนี้จัดทำขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 – ก.ย. 2562 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน BKIND ไปทั้งสิ้น 616,600 บาท เป็นการพัฒนาหลักสูตรแนะแนวอาชีพ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โดยถอดบทเรียนจากประสบการณ์และเนื้อหาใน  Workshop ที่ “อาชีพ โซเชียล เอนเทอไพรส์” ดำเนินการมาตลอด 8 ปี เพื่อจัดทำเป็นแผนการสอน

รวมทั้งกำหนดคุณลักษณะของผู้นำกระบวนการ ก็คือ “ครู” ประเด็นและทักษะสำคัญที่นักเรียนควรได้ทดลองและเรียนรู้จากเนื้อหา เพื่อขยายผลกระทบทางสังคมผ่านการส่งต่อให้ครูแนะแนวตามโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กหรือขนาดกลางในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่มีครูแนะแนว ต้องใช้ครูประจำชั้นทำหน้าที่นี้แทน หรือโรงเรียนที่ครูแนะแนวยังไม่มีหลักสูตร แผนการสอนแนะแนวของตนเองที่อยู่ในเครือข่ายของ “อาชีพ โซเชียล เอนเทอไพร์ส” และเครือข่ายของร้อยพลังการศึกษา

สำหรับการดำเนินงานนั้นจะเริ่มจาก จัดกระบวนการถอดบทเรียนและพัฒนาหลักสูตรแนะแนว ชุดที่ 1 ต่อด้วยการจัดอบรมครูแนะแนว ครั้งที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามครูแนะแนวที่นำหลักสูตรไปใช้ จัดกระบวนการถอดบทเรียนและพัฒนาหลักสูตรแนะแนว ชุดที่ 2 สนับสนุนครูแนะแนวที่นำหลักสูตรไปใช้ผ่านช่องทางออนไลน์ และประเมินผล สรุปงาน

ผลของการดำเนินโครงการ พบว่า เกิดหลักสูตรแผนการจัดการเรียนการสอนวิชาแนะแนว 49 คาบ ทดลองใช้กับครู 22 คน ซึ่งนำหลักสูตรไปใช้กับเด็กนักเรียนทั้งสิ้น 5,303 คน ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย หลังจากใช้หลักสูตรแล้ว พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครูต่อนักเรียน รวมถึงบรรยากาศในห้องเรียน เช่น ครูรับฟังนักเรียนมากขึ้น ฟังอย่างไม่ตัดสิน เปลี่ยนพฤติกรรมการสอนที่ทำให้บรรยากาศไม่เครียด และสร้างความคุ้นเคยระหว่างครูกับนักเรียนได้มากขึ้น

ขณะที่นักเรียนก็รู้สึกปลอดภัย กล้าแสดงออก กล้าเป็นตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ทั้งยังเข้าใจผู้อื่น รับฟังเพื่อน นักเรียนรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ร่วมกับครู มีการตัดสินใจร่วมกัน

ส่วนระยะถัดไปที่โครงการนี้จะดำเนินการต่อ คือ เห็นโอกาสในการเผยแพร่หลักสูตรแนะแนวอาชีพชุดนี้ในวงกว้างต่อไป ผ่านการถอดบทเรียนเนื้อหาใน  Workshop เป็นเอกสารประกอบคู่ไปกับหลักสูตรฯ และเผยแพร่ในวงกว้างผ่านทางเครือข่ายต่างๆ เช่น Teach for Thailand, Inskru ฯลฯ