BF Economic Research
- GDP มาเลเซีย Q1/2019 ขยายตัวที่ 4.5% YoY ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว 4.7% YoY เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์
- อินโดนีเซียพลิกกลับมาขาดดุลการค้าในเดือนเม.ย. 2019 ที่ -2,502 ล้านดอลลาร์ฯ สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์
- มาเลเซีย: GDP Q1/2019 ขยายตัวที่ 4.5% YoY ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว 4.7% YoY ตามที่ตลาดคาดการณ์ เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลงที่ 7.6% YoY ( 8.4% YoY) ประกอบกับการลงทุนที่พลิกมาหดตัวที่ -3.5% YoY จากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว 0.6 % YoY โดยสาเหตุหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวถึง -13.2 % YoY เนื่องมาจากการชะลอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐกลับขยายตัวเร่งขึ้นที่ 6.3% YoY จากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว 4.0 % YoY ขณะที่ การส่งออกสุทธิยังคงมีโมเมนตัมที่ขยายตัวได้
- สำหรับในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจของมาเลเซียน่าจะมีทิศทางที่เติบโตต่อได้ จากการกลับมาฟื้นตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ได้ประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียปี 2019 ไว้ที่ 4.3-4.8%
- อินโดนีเซีย: การค้าระหว่างประเทศของอินโดนีเซียเดือน เม.ย. 2019 พลิกกลับมาขาดดุลที่ -2,502 ล้านดอลลาร์ฯ สูงกว่าตลาดคาดการณ์ จากเดือนที่ผ่านมาที่เกินดุล 671 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นผลเนื่องมาจากการส่งออกที่หดตัวเร่งขึ้นที่ -13.3% YoY จากเดือนที่ผ่านมาที่หดตัว -9.4% YoY จากการหดตัวที่เร่งขึ้นของสินค้าน้ำมันและไม่ใช่น้ำมันที่ -39.2% YoY และ -11.0% YoY ตามลำดับ (-14.8% YoY และ -8.9% ตามลำดับ) โดยการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันซึ่งมีสัดส่วนกว่า 90% ของการส่งออกทั้งหมดของอินโดนีเซียหดตัวที่ลงในเกือบทุกสินค้าโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การนำเข้าหดตัวลดลงที่ -6.6% YoY ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมาที่หดตัว -7.0% YoY
- ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าที่สูงในเดือน เม.ย. 2019 น่าจะส่งผลให้การขาดดุลการค้าใน Q2/2019 เร่งขึ้นกว่าไตรมาสแรกของปี ซึ่งขาดดุลเพียง -62.8 ล้านดอลลาร์ อันจะส่งผลต่อเนื่องให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (CAD) ของ Q 2/2019 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็น -2.6% ของ GDP