By…พัสกร ตรีวัชรีกร
Fund Management Group
เมื่อพูดถึงแบรนด์หรู สำหรับสินค้าต่างๆ อย่างเครื่องประดับ เสื้อผ้าแฟชั่น รถสปอร์ต หรือน้ำหอม ซึ่งเป็นเรื่องของคุณภาพ ความหรูหรา ดารา และความประทับใจส่วนบุคคลแล้ว สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับคำว่า สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลเลย แม้ว่าคำเหล่านี้จะกำลังเป็นที่ถูกพูดถึงกันอยู่ในทั่วไปในทุกวงการ และมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ช่องว่างดังกล่าวนั้น ดูเหมือนกำลังถูกลดทอนลงไปแล้ว
งานนิวยอร์คแฟชั่นวีคเมื่อไม่นานมานี้ มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจมากขึ้น นั่นก็คือคำว่า “ความยั่งยืน” ผู้ที่ได้รับรางวัลกลับไม่ใช่ผลงานแฟชั่นที่ทันสมัย หรูหรา แต่เป็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ไม่คุ้นหูอย่าง Studio 189
องค์กรนี้เป็นองค์กรแฟชั่นเพื่อสังคมในประเทศกานา โดยผลงานนั้นเป็นงานที่มาจากการย้อมสีธรรมชาติด้วยมือและวาดด้วยมือของคนกานา รวมถึงรายได้จากกิจการยังนำไปช่วยสนับสนุนการศึกษาในประเทศอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ว่า คำว่า “ความยั่งยืน” นั้น มาเกี่ยวกับวงการแฟชั่นตั้งแต่เมื่อไหร่
อุตสาหกรรมแฟชั่นนั้น มีขนาดใหญ่มหาศาลและมีการสร้างการจ้างงานทั่วโลก ทว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตมลพิษทางอุตสาหกรรมต่อโลกมากเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน และจากข้อมูลของ United Nations อุตสาหกรรมแฟชั่นผลิต 20% ของน้ำเสีย และ 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดในโลก ในขณะที่เสื้อผ้าแฟชั่นสามารถนำมารีไซเคิลกันได้น้อยกว่า 1% ทำให้วันนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาคส่วนต่างๆกำลังร่วมมือกันจัดการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในเรื่องของกฎหมาย หลายๆ ประเทศเริ่มมีกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ในด้านของผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม การใช้วัตถุดิบในการผลิตที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ถัดมาคือ แรงกดดันจากความคาดหวังของสังคม ทั้งจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นองค์กรระดับโลก องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือดาราที่มีชื่อเสียง ต่างก็เริ่มให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งคนเหล่านี้นั้น มีอิทธิพลต่อความคิดและมุมมองของสังคม ในด้านภาพลักษณ์สินค้าและการยอมรับ และส่วนของแวดวงการลงทุน นักลงทุนก็เริ่มสนใจคุณค่าของแบรนด์สินค้าว่ามีการจัดการกับผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างไร
ความจำเป็นต่างๆ เหล่านี้ทำให้แบรนด์สินค้า ไม่เพียงแต่ต้องคำนึงถึงการดำเนินกิจการที่ดี เพียงเพื่อรักษาภาพลักษณ์และคุณค่าของสินค้าเอาไว้เท่านั้น แต่เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินกิจการอีกด้วย ปัจจุบันแบรนด์ใหญ่ๆ ต่างตระหนักและตื่นตัวในการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อองค์กร เช่น LVMH กลุ่มธุรกิจสินค้าหรูหราจากฝรั่งเศษเริ่มทำการวิเคราะห์ตลอดสายการผลิตอย่างละเอียด Veuve Clicquot Champagne พรีเมียมแชมเปญจากฝรั่งเศสก็เริ่มมาสนใจเรื่องของแพกเกจจิ้ง หรือแบรนด์แฟชั่นอย่าง Nike ก็ต้องวางแผนจัดการเรื่องการใช้แรงงาน เป็นต้น
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันนั้น การเป็นบริษัทที่ดี จะไม่ใช่เป็นแค่ “ทางเลือก” อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกิจการที่จะอยู่รอดและทำธุรกิจให้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบนั้นจะส่งผลต่อคุณค่าและความน่าเชื่อถือขององค์กร และสำหรับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดียและพลังความรับผิดชอบของชาว Millenials ความเสี่ยงจากการไม่แก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืนในการทำธุรกิจนั้น มีสูงมากเกินกว่าที่จะละเลยได้