Economic Review ครึ่งปีหลัง 2019 – เศรษฐกิจกลุ่ม CLM

Economic Review ครึ่งปีหลัง 2019 – เศรษฐกิจกลุ่ม CLM

BF Economic Research

  • ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

กัมพูชา เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2018 เติบโตสูงที่สุดในรอบ 4 ปีที่ 7.5% (ประมาณการเบื้องต้น) จาก 7.0% ในปี 2017 โดยการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก การส่งออกรองเท้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดขยายตัว 17.6% ในปี 2018 มากที่สุดในรอบ 5 ปี ด้านเศรษฐกิจในประเทศก็ยังขยายตัวได้ดี เห็นได้จากการนำเข้ารถยนต์และเหล็กที่เป็นตัวชี้วัดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศและการก่อสร้างในประเทศที่มีการขยายตัว 50% และ 48% ตามลำดับ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก -9.7% ต่อ GDP เป็น -10.4% แต่ได้รับการชดเชยด้วยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2018 ที่ 13.4% ต่อ GDP โดยเป็นการลงทุนจากจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนในสีหนุวิลล์ทางใต้ของกัมพูชา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับปานกลางในกรอบ 2-3% ส่วนหนึ่งมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งนโยบายลดราคาน้ำมันในไตรมาส 4/2018 ที่ผ่านมาช่วยกลบผลจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นได้

สปป.ลาว ในปี 2018 เศรษฐกิจสปป.ลาวได้ชะลอตัวลงจาก 6.9% ในปี 2017 เป็น 6.5% เนื่องมาจาก 1) อุทกภัยรุนแรงในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. 2018 ที่นำความเสียหายมาสู่พื้นที่เกษตรกรรม และถนนหนทางในหลายจังหวัด 2) ภาคเหมืองแร่ที่ยังอ่อนแอแม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้น 3) การปรับสถานะการคลังให้เข้าสู่สมดุลของรัฐบาล (Fiscal Consolidation) โดยการลดการขาดดุลทางการคลังลงจาก -5.3% ต่อ GDP ในปี 2017 เป็น 4.7% ต่อ GDP ในปี 2018 ที่ทำให้สินเชื่อในประเทศชะลอตัว อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมในสปป. ลาวยังเติบโตได้ดี รวมไปถึงภาคการก่อสร้าง การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการค้าปลีกค้าส่ง

เมียนมา เศรษฐกิจของเมียนมาขยายตัวที่ 6.8% ระหว่างปี 2017/2018 (ปีงบประมาณซึ่งเริ่มนับจาก 1 เม.ย.) เมื่อเทียบกับ 5.9% ในปี 2016/2017 โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของการค้าภายในประเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคม แต่ถูกชดเชยด้วยการชะลอตัวของภาคการผลิตการก่อสร้างและการขนส่ง ขณะที่ ค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลง 18%  เมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ในช่วงเดือนเม.ย. และต.ค. ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของเมียนมา โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.8% ในปี 2018/19 จาก 5.4%ในปี 2017/18

  • ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019

กัมพูชา  ADB คาดว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะยังคงมีโมเมนตัมเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 7.0% ในปี 2019 จาก 7.5% ในปี 2018 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการผลิตของกัมพูชาที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 10.1% ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2018 ที่ขยายตัว 10.8%  ประกอบกับการท่องเที่ยวที่จะเป็นปัจจัยผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกัมพูชา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของกัมพูชายังคงมีความท้าทายจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศส่งออกสำคัญของกัมพูชา

สปป.ลาว  ADB คาดว่า เศรษฐกิจของสปป.ลาวจะโตได้ 6.5% ในปี 2019 ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2018 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตทางการเกษตร และการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคการก่อสร้าง และภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจากความพยายามของรัฐบาลในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาประเด็นความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมการค้าโลกซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศของสปป.ลาว

เมียนมา  World bank คาดว่า เศรษฐกิจของเมียนมาจะขยายตัวอยู่ที่ 6.2% ในปี 2018/19 จาก 6.8% ในปี 2017/18 ซึ่งเป็นผลการเติบโตทางภาคการเกษตรที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ประกอบกับภาคบริการบางประเภทโดยเฉพาะการสื่อสารโทรคมนาคมที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี การขยายตัวดังกล่าวจะถูกชดเชยด้วยแนวโน้มการชะลอตัวลงของภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และภาคการขนส่งลง เนื่องจากการอ่อนแรงลงของภาคการลงทุนประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

  • แนวทางด้านนโยบาย

กัมพูชา กัมพูชาได้ประกาศ “National Independence Policy” หรือ “นโยบายอิสรภาพแห่งชาติกัมพูชา” เป็นนโยบายใหม่นโยบายแรกของปี 2019 เพื่อแสดงความต้องการที่จะลดการพึ่งพาสองตลาดหลักของกัมพูชา อันได้แก่ ยุโรปและสหรัฐฯ หลังจากยุโรปได้พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางการค้ากับสินค้าจากกัมพูชา  ส่วนสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มจะตัดสิทธิการยกเว้นภาษีศุลกากรทั่วไป หรือ GSP เช่นกัน รัฐบาลกัมพูชาจึงจะหันมาให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยการปรับปรุงและลดขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบศุลกากรตามชายแดน เพื่อกระตุ้นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในระยะแรก เริ่มจากปรับลดค่าธรรมเนียมทั้งการนำเข้าและส่งออกตามชายแดน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าเกษตรนั้นเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศสูงที่สุด ในขณะที่ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชา

สปป.ลาว กระทรวงการต่างประเทศวางแผนที่จะเปิดตัวบริการวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสามารถยื่นขอวีซ่าออนไลน์ เพื่อเข้าประเทศครั้งเดียว โดยมีระยะเวลาพำนักสูงสุด 30 วัน หากจะอยู่นานกว่า 30 วัน จำเป็นต้องยื่นขอวีซ่าเข้า สปป.ลาวหรือสถานกงสุลในต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงบริการของหน่วยงานภาครัฐให้ทันสมัยและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสปป. ลาวมากขึ้น และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศนโยบายดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาสปป. ลาว ในปี 2018 น้อยกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5 ล้านคน

เมียนมา รัฐบาลเมียนมาเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเมียนมาหลังเข้าร่วม AEC เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2019 ที่ผ่านมาผ่านนโยบายต่างๆ ของแต่ละกระทรวง อาทิ กระทรวงพาณิชย์จะอนุญาตให้บริษัทต่างชาติ หรือบริษัทร่วมทุนส่งออกอาหารบางประเภทเป็นการเฉพาะ เพื่อยกระดับการส่งออกของเมียนมา และส่งเสริมอุปสงค์จากต่างชาติสำหรับสินค้าในประเทศ ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาอยู่ระหว่างวางแผนปรับขึ้นอัตราภาษียาสูบ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ เพื่อควบคุมการใช้ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และทำให้รายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้น