สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า จากข้อมูลประมาณการขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่า ในปี 2050 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านคนจากปัจจุบันซึ่งมีประชากรโลกอยู่ 7,700 ล้านคน ขณะที่ปี 2100 จำนวนประชากรโลกน่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 11,000 ล้านคน
ทั้งนี้ ประเทศขนาดใหญ่ในโลก มีอัตราการเกิดใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับระดับในศตวรรษที่ผ่านมา โดยคาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปี 2027 โดยอัตราการให้กำเนิดใหม่ของผู้หญิงในอินเดีย ลดลงอยู่ที่ 2.24 คนต่อประชากรผู้หญิง 1 คน ขณะที่ปี 2025 อัตราการให้กำเนิดใหม่ของผู้หญิงอินเดียจะลดลงไปอยู่ที่ 2.14 คนต่อประชากรผู้หญิง 1 คน
ส่วนประเทศขนาดใหญ่อื่นในเอเชีย เริ่มเห็นอัตราการเกิดใหม่ลดลง เช่น บังคลาเทศ มีอัตราการให้กำเนิด 2.05 คนต่อประชากรผู้หญิง 1 คน ไทย 1.53 คนต่อประชากรผู้หญิง 1 คน เป็นต้น ขณะที่ในแอฟริกาจะมีอัตราการให้กำเนิดที่เพิ่มขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชากรในปี 2050 เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ โดยภูมิภาคนี้จะประชากร 1 ใน 5 ของโลกในปี 2050 และจะเพิ่มเป็น 1 ใน 3 ของโลกในปี 2100
ยูเอ็น คาดการณ์ว่า ประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศในแถบแอฟริกา ยังไม่เห็นอัตราการเกิดลดลง และคิดว่าภูมิภาคนี้คงจะใช้เวลานานกว่าภูมิภาคอื่นๆ ที่จะเห็นอัตราการเกิดที่เปลี่ยนไป