BF Economic Research
สรุปประเด็นเศรษฐกิจสำคัญเดือน ก.ค. 2562
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากประเด็นการกีดกันทางการค้าเป็นหลัก และแม้เราคาดว่าจีนกับสหรัฐฯ จะสามารถเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันได้ในที่สุด แต่กระบวนการเจรจาอาจไม่ราบรื่นนัก ซึ่งการกลับมาเจรจากันอีกครั้งของสหรัฐฯ และจีนในครั้งนี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า หลังจากนี้ทั้งสองประเทศจะไม่มีความขัดแย้งระหว่างกันอีก รวมไปถึงว่าแม้จะมีข้อตกลงกันแล้วก็ตาม โดยสองมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างหันมาใช้นโยบายกีดกันทางการค้าที่ต่างออกไปจากนโยบายเดิมๆ อาทิ การขึ้นอัตราภาษีนำเข้า เป็นการใช้มาตรการกีดกันที่มีเป้าหมายเจาะจงเฉพาะบางอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ยิ่งมีเสียงว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีน อยากให้ข้อขัดแย้งทางการค้าดังกล่าวจบลง ยิ่งทำให้ความผันผวนในระยะข้างหน้าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราสามารถมองนัยของความขัดแย้งทางการค้าต่อเศรษฐกิจและการลงทุนได้เป็นสองส่วนคือ
1) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
2) การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง
1) ผลกระทบเศรษฐกิจจากความตึงเครียดด้านการค้า
จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้มีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าแล้วกับหลายประเทศทั่วโลก อาทิ จีน อินเดีย เม็กซิโก และเวียดนาม รวมไปถึงกับหลายประเภทสินค้า เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และเครื่องซักผ้า เป็นต้น โดยในแต่ละประเด็นข้อพิพาททางการค้าล้วนส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัว ที่ชัดเจนคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
ณ ขณะนี้ สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 25% กับสินค้าราวครึ่งหนึ่งของสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าจากจีน ส่วนความเสี่ยงที่จะขยายการครอบคลุมไปยังสินค้านำเข้าที่เหลือทั้งหมดนั้น ปัจจุบันได้ถูกระงับไว้เป็นการชั่วคราวก่อน
ขณะที่ จีนได้ตอบโต้สหรัฐฯ โดยการเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 5-25% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ นอกจากการขึ้นภาษีแล้ว จีนยังเพิ่มมาตรการที่มิใช่ภาษี อย่างเช่นการห้ามไม่ให้บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปบางบริษัทต่างชาติ ซึ่งการกีดกันทางการค้าในลักษณะนี้ อาจคงอยู่ไปนานกว่าข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ
ทั้งนี้ แม้ว่าการขึ้นภาษีจะมีผลบังคับใช้หรือไม่ก็ตาม หรือจะถูกยกเลิกในเวลาต่อมา ความผันผวนของการค้าโลกก็ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของภาคธุรกิจ และทำให้ตลาดเกิดความกังวลไปแล้ว
เมื่อพิจารณาผลกระทบที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าการส่งออกของภูมิภาคเอเชียนั้นสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ในปีนี้ โดยความตึงเครียดทางการค้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัว โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียเหนือ อาทิ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่กำลังเผชิญการชะลอตัวของอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Electronics) นอกเหนือไปจากความตึงเครียดทางการค้า
อย่างไรก็ดี เมื่อบรรษัทข้ามชาติเริ่มมีการเปลี่ยนกลยุทธ์แผนกำลังการผลิตในเอเชีย ประเทศในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศก็มีแนวโน้มได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม
นอกจากนี้ การเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไปในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย ส่งผลให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองเบาบางลง หนุนให้ภาคธุรกิจเริ่มสามารถวางแผนธุรกิจในระยะยาว ด้วยการตัดสินใจลงทุนในประเทศที่เสี่ยงต่ำสุด
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงอีก -0.1pp เป็น 3.2% จากประมาณการครั้งก่อนในเดือน เม.ย. ซึ่งนับเป็นการขยายตัวต่ำสุด นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2009 โดยปรับลดลงจากประเทศเกิดใหม่ (EM) เป็นหลัก
IMF ระบุนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ทั้งความตึงเครียดทางการค้ากับจีนและการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ รวมถึงความเสี่ยงที่ UK จะแยกตัวออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit) นับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากได้กดดันความเชื่อมั่นและการลงทุน และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
IMF คาดเศรษฐกิจโลกจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.5% YoY ในปี 2020 บนสมมติฐานว่า 1) ความเชื่อมั่นโดยรวมในตลาดการเงินยังเอื้ออยู่ 2) ปัจจัยลบชั่วคราวที่เคยเกิดขึ้นได้ทยอยลดลง โดยเฉพาะในยุโรป 3) เศรษฐกิจบางประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่เผชิญปัญหามีเสถียรภาพมากขึ้น เช่น อาร์เจนตินาและตุรกี และ 4) เศรษฐกิจบางประเทศหลีกเลี่ยงการทรุดลงอย่างหนัก เช่น อิหร่านและเวเนซุเอลา
สำหรับ GDP รายประเทศ IMF ปรับเพิ่มประมาณการของสหรัฐฯ ขึ้น 0.3ppt เป็น 2.6% YoY จากประมาณการครั้งก่อน จากเศรษฐกิจไตรมาส 1 ที่ขยายตัวสูงกว่าที่คาด
ด้านยูโรโซน IMF ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2019 ขึ้น 0.1ppt เป็น 1.3% YoY จากประมาณการครั้งก่อนโดยปรับขึ้นในประเทศสเปน ขณะที่คงคาดการณ์เดิมในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี และปรับลดคาดการณ์ของประเทศเยอรมนีลง
ในปี 2020 IMF คาด GDP ของยูโรโซนจะเร่งตัวขึ้นเป็น 1.6% YoY จากภาคต่างประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นและผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราว เช่น การปรับเปลี่ยนมาตรฐานไอเสียรถยนต์ ทยอยหมดไป
ฝั่งเอเชีย IMF ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2019 ของญี่ปุ่นลง -0.1ppt เป็น 0.9% YoY จากประมาณการครั้งก่อน และคาดจะชะลอตัวลงเป็น 0.4% ในปี 2020
ส่วนจีน IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2019 และ 2020 ลง -0.1ppt เป็น 6.2% YoY และ 6.0% YoY ตามลำดับ จากผลกระทบของสงครามการค้าและอุปสงค์โลกที่ชะลอ ทั้งนี้ IMF มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจะช่วยชดเชยผลกระทบในภาคส่งออกได้บ้าง
ด้านอินเดีย IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2019 และ 2020 ลง -0.3ppt เป็น 7.0% YoY และ 7.2% YoY ตามลำดับ จากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง
ส่วน Projection ของ กองทุนบัวหลวงนั้น สามารถดูได้จากตารางด้านบนช่องขวามือสุด
2) ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่ผ่อนคลายมากขึ้น ช่วยให้ตลาดเริ่มคลายความกังวล ท่ามกลางความผันผวน
ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต่อสภาคองเกรสในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ชี้นำให้ตลาดคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) อาจจะเริ่มกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งต่อๆ ไป ขณะที่ด้านธนาคารกลางจีน (PBoC) ก็ประกาศลดสัดส่วนการกันสารองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงหลายครั้งในปีที่ผ่านมา เพื่อปลดล็อคการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ รวมไปถึงธนาคารกลางในอาเซียนหลายแห่งก็เริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว (ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)
และท้ายสุดสำหรับไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะได้รับแรงกดดันจากการส่งออกที่หดตัว ประกอบกับการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย จากรายได้ภาคเกษตรที่ชะลอตัว และฐานสูงของยอดขายรถยนต์ในปีก่อนหน้า โครงการลงทุนภาครัฐโครงการใหม่อาจได้รับผลกระทบจากการเลื่อนอนุมัติงบประมาณปี 2563 (FY2020) ออกไปจากกำหนดเดิม
ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่มีกรอบในการใช้วงเงิน (จากวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท) อีกเพียง 7-8 หมื่นล้านบาท แรงส่งไปยังการบริโภคอาจมีจำกัด (ยกเว้นแต่รัฐบาลจะออกงบพิเศษระหว่างกาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะ) ในขณะที่ค่าเงินที่แข็งค่า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว และทำให้เป้าหมายที่ 40 ล้านคน อาจเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เรามองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2019 น่าจะเติบโตประมาณ 3.3-3.6% ด้วยความเป็นไปได้สูงที่จะโตที่กรอบล่าง 3.3% สำหรับทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เรายังคงมุมมองว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุคงเหลือ 10 ปีของประเทศหลัก ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ.ย. พบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หรือ US Treasury Yield ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ไปแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 1.94% โดยมีปัจจัยหลักจาก 1) การเริ่มส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ.ย.เป็นต้นมา และ 2) ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังสร้างความวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือน ก.ค. จากตัวเลขเศรษฐกิจด้านการจ้างงานและการบริโภคเอกชนที่ออกมาดี
สำหรับผลตอบแทนพันธบัตรในฝั่งยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ ต่างเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยเพิ่มเติมคือ แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ECB ที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของเยอมนี ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ มีการเสนอชื่อ Christine Lagarde ผู้อำนวยการ IMF ขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน ECB ต่อจากนาย Mario Draghi ซึ่งตลาดคาดว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ภายใต้การนำของนาง Lagarde นั้นจะไม่แตกต่างจากนาย Draghi มากนัก
ต่อเนื่องอีกครั้ง ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง รวมถึงการที่กลุ่มโอเปคตัดสินใจขยายเวลาปรับลดการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน (จนถึงเดือน เม.ย.ปี 2020) โดยที่ปัจจุบันกลุ่มโอเปค และรัสเซีย มีการลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้
ทั้งนี้ราคาน้ำมัน Brent มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในกรอบ 63-65 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล (WTI : 55-57 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล) ในช่วง 2H19 ด้วยแรงหนุนจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลักๆ ในตะวันออกกลางและเวเนซูเอเลาที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความร่วมมือในการปรับลดกาลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค แม้ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังท่อขนส่งน้ำมันจากแหล่ง Permian ทยอยสร้างเสร็จ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
ตลาดหุ้นไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. จากความคาดหวังการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และพัฒนาการที่ดีขึ้นของสงครามการค้า โดยสหรัฐฯและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงบางส่วนร่วมกันได้ ในการพบกันของประธานาธิบดีทั้งสองฝ่าย ในช่วงของการประชุม G-20 ปลายเดือน มิ.ย. ส่งผลเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุนและตลาดหุ้นโลก สำหรับตลาดหุ้นไทย รวมตั้งแต่ต้นปี มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสุทธิสูงถึง 5.65 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้น 11.29% ทะลุระดับ 1,700 จุดอีกครั้งในรอบ 8 เดือน ส่วนนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1.19 หมื่นล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1.75 หมื่นล้านบาท
ดัชนีหนุนนำโดยกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันโลก กลุ่มโรงไฟฟ้าจากแนวโน้มต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและได้ปัจจัยบวกจากเงินบาทที่แข็งค่า และกลุ่มค้าปลีกจากการคาดการณ์ว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ปัจจัยที่ต้องติดตามหลังจากนี้ ได้แก่ การประชุม FOMC Meeting ในวันที่ 30-31 ก.ค. โดยตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ย 0.25% และพัฒนาการเพิ่มเติมของสงครามการค้า และการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในเดือน ก.ค.ของ IMF ส่วนปัจจัยในประเทศ หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว คาดว่าจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน รวมถึงเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นกับนักลงทุนมากขึ้น
ตลาดต่างประเทศ หลังการประชุม G-20 ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. มีผลให้ตลาดคลายความกังวลต่อประเด็นด้านสงครามการค้า เป็นผลให้ตลาดหุ้นในหลายประเทศฟื้นตัวขึ้นมาได้บางส่วน แต่สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯนั้นสามารถกลับมาทำจุดสูงสุดใหม่ได้ นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ รวมทั้งธุรกิจที่อิงกับรายได้จากในประเทศสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่ตลาดหุ้นจีนกลับไม่ได้ฟื้นตัวได้ดีขนาดนั้น ด้วยแรงกดดันจากหุ้นกลุ่ม Industrial และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่บริษัทที่อิงการบริโภคในประเทศหลายแห่งสามารถปรับตัวขึ้นได้ ท่ามกลางแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น น่าจะช่วยหนุนให้หุ้น Growth/High Valuation ยังคงได้รับความนิยมกว่าหุ้นประเภท Value/Low Growth ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยต้องจับตาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการเจรจาการค้า ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อาจจะทำให้นักลงทุนหันไปมองหุ้นกลุ่มที่ราคาถูกแต่ถูกกดดันจากสงครามการค้าได้