ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF ตอนจบ

ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF ตอนจบ

ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF ตอนจบ

โดย  พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

กองทุน RMF เป้าหมายหลัก คือ การวางแผนลงทุนเพื่อวัยเกษียณที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ เริ่มไวใช้เงินไม่มากก็สามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อวัยเกษียณที่มีความสุขได้ อีกทั้งระหว่างทางยังได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย โดยเงื่อนไขลงทุนก็ไม่ยากอย่างที่คิด ตามที่เคยได้อธิบายไว้ว่า 55-5-5

นักลงทุนหลายคนให้ความสนใจกองทุนรวม RMF กันมาก โดยคำถามที่มักได้ยินกันเป็นประจำคือ ซื้อเต็มที่ไปเลยดีไหม? หรือ ถ้าหากลงทุนไปแล้วมีความจำเป็นต้องใช้เงินจะต้องทำยังไง? ได้ทราบแบบนี้แล้วรู้สึกดีใจ

แต่เราไม่สามารถลงทุนในกองทุนรวม RMF แบบเท่าไหร่เท่ากันได้ เนื่องจากกองทุนรวม RMF ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูตามกฎหมายโรงเรียนเอกชน ประกันแบบบำนาญ และกองทุน RMF  รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยแต่ละผลิตภัณฑ์ก็จะระบุสิทธิการซื้อสูงสุดของตัวเอง เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี

ยกตัวอย่างที่คุ้นเคยกัน คือ

  • กองทุน PVD เฉพาะส่วนที่ตัวเองสะสม 2-15% ของเงินได้พึงประเมิน (ส่วนจะสะสมได้กี่ % นั้นขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละบริษัท)
  • ประกันแบบบำนาญ 15% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวม RMF  15% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 500,000 บาท

สังเกตว่า กองทุน PVD และประกันแบบบำนาญ ตัวเลขค่อนข้างคงที่ ดังนั้น ก่อนจะลงทุนในกองทุนรวม RMF  จำเป็นต้องเขียนตัวเลขพวกนี้ออกมาก่อน จากนั้นจึงคำนวณสิทธิในการลงทุนกองทุน RMF ก็คือ สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 500,000 บาท โดยเมื่อคำนวณได้แล้วก็ลองนำไปบวกรวมกับกองทุน PVD และประกันแบบบำนาญว่าเกิน 500,000 ไหม? ถ้าไม่เกินก็ลงทุนได้ตามสิทธิที่คำนวณเลย แต่ถ้าเกินต้องลดส่วนที่เป็นกองทุนรวม RMF

ส่วนประเด็นที่นักลงทุนกังวลว่า ลงทุนนานขนาดนี้ ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ต้องใช้เงินก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์  จำเป็นต้องขายคืนแบบผิดเงื่อนไข ไม่โดนภาษีอ่วมเลยหรือ? ขออธิบายเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีลงทุนน้อยกว่า 5 ปีลงทุน  ให้คืนเงินภาษีที่ได้รับการลดหย่อนไปทุกปี รวมถึงถ้ามีกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในปีที่ทำรายการขายคืนผิดเงื่อนไข

ยกตัวอย่าง นายรวดเร็ว ลงทุนในกองทุน RMF ทุกปีเป็นเวลา 3 ปี โดยลงทุนปีละ 10,000 บาท ฐานภาษี 10% เท่ากับว่าได้รับเงินคืนภาษีปีละ 1,000 บาท (เงินลงทุน x ฐานภาษี = เงินคืนภาษี) จากนั้นนายรวดเร็วทำการขายคืน ได้รับเงินทั้งสิ้น 35,000 บาท (เงินต้นที่ลงทุนไว้ปีละ 10,000 บาท x 3 ปี เท่ากับ 30,000 บาท และกำไรส่วนเกินทุน 5,000 บาท)

นายรวดเร็ว ลงทุนในกองทุนรวม RMF น้อยกว่า 5 ปีลงทุน จึงต้องคืนเงินภาษี 3,000 บาท และกำไรส่วนเกินทุน 5,000 บาท ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในปีที่ทำรายการขายคืนกองทุนรวม RMF

กรณีลงทุนมากกว่า 5 ปีลงทุน ให้คืนเงินภาษีที่ได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง โดยกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) ทั้งหมดไม่ต้องเสียภาษี

ยกตัวอย่าง นายราบรื่น ลงทุนในกองทุน RMF ทุกปีเป็นเวลา 8 ปี โดยเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่ปี 2555 – 56 – 57 – 58 – 59 – 60 – 61 – 62 ปีละ 10,000 บาท ฐานภาษี 10% เท่ากับว่าได้รับเงินคืนภาษีปีละ 1,000 บาท จากนั้นนายราบรื่นทำการขายคืน ได้รับเงินทั้งสิ้น  250,000  บาท (เงินต้นที่ลงทุนไว้ปีละ 10,000 บาท x 8 ปี เท่ากับ 80,000 บาท และกำไรส่วนเกินทุน 170,000 บาท)

นายราบรื่น ลงทุนในกองทุนรวม RMF มากกว่า 5 ปีลงทุน จึงต้องคืนเงินภาษี 5 ปีย้อนหลังคือ 2558 – 59 – 60 – 61 – 62  รวมเป็นเงิน  5,000  บาท ส่วนก่อนหน้านั้นไม่ต้องส่งคืน และกำไรส่วนเกินทุน 170,000 บาท  ก็ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี